
สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดสมุทรสาคร สนับสนุนชุมชนต้นแบบ – ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน “บ้านชายทะเลรางจันทร์” ต.นาโคก จ.สมุทรสาคร
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดสมุทรสาคร นำสื่อมวลชนท้องถิ่นดูงานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านชายทะเลรางจันทร์ หมู่ 4 ต.นาโคก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร มีนางมาเรียม กงม้า เป็นผู้นำชุมชน ซึ่งภายในชุมชนมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวประมงแบบดั้งเดิม และสะพานเขียวทอดยาวไปในทะเล เพื่อชมทัศนียภาพชายฝั่งและป่าชายเลน



นายณัฐพล เชาวนปรีชา ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. จังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ตามวิสัยทัศน์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่ว่า “เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่มั่นคง มีการจัดการที่ทันสมัย ให้บริการทางการเงินครบวงจร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน” และมีภารกิจคือ การดำเนินงานในบทบาทธนาคารพัฒนาชนบท ที่สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้เกษตรกร ควบคู่ไปกับการพัฒนาเกษตรกรและชุมชนเพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั้น
สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดสมุทรสาคร ได้ดำเนินงานตามภารกิจในพื้นที่ของ จ.สมุทรสาครในหลายชุมชน ซึ่งบ้านชายทะเลรางจันทร์ เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งกิจกรรมที่ธนาคารสนับสนุน ได้แก่ 1. ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยการส่งเสริมให้ชุมชนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของชุมชน และสนับสนุนองค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรในชุมชน โดยการนำทรัพยากรในชุมชนนำมาแปรรูป และจำหน่ายให้กับชุมชนภายนอกหรือตลาดภายนอก เช่น กะปิ กุ้งแห้ง อาหารทะเลแห้ง เป็นต้น

2. ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยการส่งเสริมให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา เป็นสถานที่สำหรับร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาดูงานของสมาชิกในชุมชนหรือชุมชนข้างเคียง ทั้งด้านการผลิต การตลาด การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา ฯลฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้ดีขึ้น โดยการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกในหมู่บ้าน และร่วมกันแปรรูปในนามวิสาหกิจ และจำหน่ายสู่ตลาดทั้งในและนอกพื้นที่

3. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเล ส่งเสริมการรวมกลุ่มของสมาชิกในชุมชนเพื่อแปรรูปผลผลิตสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การแปรรูปกะปิ และ 4. ท่องเที่ยวชุมชน ร่วมกับส่วนราชการอื่น ๆ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวร่วมกับชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพสูงขึ้น และมีการเตรียมความพร้อมในการรับรองนักท่องเที่ยว อันจะเป็นการช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน




ทั้งนี้ ธนาคารได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้คำนิยามความยั่งยืนขององค์กรไว้ว่า “เป็นธนาคารพัฒนาชนบท ที่มั่นคงยึดมั่นการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง