
แขวงทางหลวงสมุทรสาคร แจงประเด็น “เส้นซิกแซก” บนถนนเศรษฐกิจ ชี้เป็นรูปแบบสากล เพื่อเตือนผู้ขับขี่ลดความเร็วก่อนถึงทางม้าลาย ยกระดับความปลอดภัยทางคนเดินข้าม
รายงานข่าวแจ้งว่า แขวงทางหลวงสมุทรสาคร กรมทางหลวง ได้ชี้แจงกรณีประชาชนสอบถามถึงรูปแบบการตีเส้นบนผิวทาง ทล.3091 (ถนนเศรษฐกิจ) ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ โดยระบุว่า กรมทางหลวง ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางคนเดินข้าม ซึ่งสาเหตุหลัก “เกิดจากความเร็วของรถที่เข้าสู่ทางคนเดินข้าม และการรับรู้ของผู้ขับขี่ล่วงหน้า ว่าจะมีทางข้ามถนน” โดยนำรูปแบบมาตรฐานสากลมาทดลองใช้กับทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางคนเดินข้าม ได้แก่

เส้นซิกแซก (Zigzag Line) มีวัตถุประสงค์ เพื่อเตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้าด้วยสีตีเส้นบนผิวทาง ให้ “ตระหนัก” และ “ลดความเร็ว” ลงก่อนถึงทางคนเดินข้าม เป็นรูปแบบที่ใช้กันในสากล เช่น กลุ่มประเทศในยุโรป สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เป็นต้น
เกาะยืนพักระหว่างการเดินข้าม (Refuge Island) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เดินช้าไม่จำเป็นต้องเดินข้ามถนนในครั้งเดียว
ชุดป้ายทางข้าม ชนิดสีเหลืองเขียวฟลูออเรสเซนต์ ที่เพิ่มความปลอดภัยให้กับคนเดินข้าม
ไฟฟ้าส่องสว่าง ที่ส่องไปที่พื้นทางคนเดินข้ามโดยเฉพาะ
การปรับปรุงกายภาพสองข้างทาง เพื่อให้ผู้ขับขี่รับรู้ถึงการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เมื่อเข้าสู่ช่วงเขตชุมชน รวมทั้งการปรับปรุงทางกายภาพด้านอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับประชาชนที่ใช้ทางข้ามถนนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แขวงทางหลวงสมุทรสาคร ได้ดำเนินการตีเส้นจราจรใหม่ ทั้งเส้นซิกแซก เครื่องหมายลดความเร็ว (OSB) และข้อความ “เขตชุมชนลดความเร็ว” บนผิวถนนเศรษฐกิจ 1 ฝั่งขาเข้าตัวเมืองสมุทรสาคร ตั้งแต่ช่วงลงจากสะพานคลองครุ ส่วนฝั่งขาออกฯ ตั้งแต่ใกล้แยกต่างระดับสมุทรสาคร โดยไปบรรจบกันตรงกึ่งกลางบริเวณทางม้าลาย กม.19 หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขามหาชัย เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้มีการปรับปรุงท่อระบายน้ำและผิวจราจร จนกลายเป็นประเด็นบนโลกออนไลน์ มีผู้ใช้ถนนตั้งคำถามว่าตีเส้นหยักเป็นฟันปลาแบบนี้หมายความว่าอย่างไร ดูแล้วตาลาย โดยมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

สำหรับเส้นซิกแซก มีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ โดยเริ่มตีเส้นลงบนพื้นผิวจราจรเมื่อปี พ.ศ. 2514 ปัจจุบันมีการจัดทำเส้นจราจรซิกแซ็กใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศราชอาณาจักรเครือจักรภพ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ส่วนในเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ส่วนในประเทศไทย เริ่มมีการตีเส้นซิกแซกเมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยสำนักงานวิศวกรรมจราจร สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ได้ออกแบบเส้นเตือนทางม้าลาย ตามหลักการวิศวกรรมจราจร Traffic Calming โดยมีลักษณะเป็นเส้นหยักซิกแซก เป็นเครื่องหมายเสริมเตือนให้ผู้ขับขี่ระวังในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงเขตทางข้าม (ทางม้าลาย) หวังให้ผู้ขับรถลดความเร็วและหยุดรถเพื่อให้คนข้ามถนนบนทางม้าลาย หลังจากเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งกับผู้เดินข้ามถนน ซึ่งมีการทดลองตีเส้นซิกแซกที่ถนนดินสอ ถนนโดยรอบศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และถนนอโศกมนตรี ซึ่งมีอุบัติเหตุรถยนต์ชนคนข้ามถนนตรงทางม้าลายบ่อยครั้ง จากนั้นจะขยายไปยังถนนสายอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ

ต่อมากรมทางหลวง ได้ดำเนินโครงการนำร่องด้วยการตีเส้นซิกแซก เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางคนเดินข้ามบนทางหลวงหมายเลข 2127 ตอน ศิวาลัย – สำโรงเกียรติ บริเวณชุมชน บ.หลักหินใหม่ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 สืบเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ถูกรถจักรยานยนต์ชนจนเสียชีวิตขณะข้ามทางม้าลายเมื่อต้นปีเดียวกัน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของคนเดินเท้า การบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย นำมาสู่การปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจราจรในประเทศไทย
สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง