“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” จับมือเครือข่ายประชาสัมพันธ์ 2 จว. สร้างการรับรู้ ปชช.

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดกิจกรรมความร่วมมือระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกับเครือข่ายประชาสัมพันธ์ระดับจังหวัด พัฒนาและขยายเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร-สมุทรสงคราม ร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาท หน้าที่ และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงช่องทางการร้องเรียนต่าง ๆ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 3 ก.ย. 2567 นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานเปิดกิจกรรมความร่วมมือระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกับเครือข่ายประชาสัมพันธ์ระดับจังหวัด ตามโครงการพัฒนาและขยายเครือข่าย (ธรรมาภิบาล/เรื่องร้องเรียน) เพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม ณ ห้องแกรนด์นรสิงห์ โรงแรมแกรนด์ อินเตอร์ โฮเทล ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยมี นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายชวลิต ธูปตาก้อง ที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นางศรีสุดา รักษ์เผ่า เลขานุการประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร

รวมถึงประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสงคราม นายกสมาคมผู้สื่อข่าวจังหวัดสมุทรสาคร นายกสมาคมสื่อมวลชนสมุทรสงคราม หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน (อป.มช.) เครือข่ายวิทยุชุมชน เครือข่ายสื่อมวลชน เครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ภาครัฐ เครือข่ายวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ และเครือข่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 80 คน เข้าร่วมกิจกรรม

ด้วยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีภารกิจหลัก คือ การขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ยังมีความมุ่งหมายในการส่งเสริม สนับสนุน ให้คำแนะนำ ให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำ อำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างทัดเทียมกัน โดยการสร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบของเครือข่าย ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสำนักงานฯ กับเครือข่ายประชาสัมพันธ์ระดับจังหวัดให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เกิดความร่วมมือสนับสนุนภารกิจงานของผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาท หน้าที่ และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ช่องทางการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชาสัมพันธ์หรือถ่ายทอดให้คนในชุมชนทราบถึงการดำเนินงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ร่วมเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ และอำนาจของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แนะนำช่องทางในการร้องเรียนให้แก่ประชาชน ในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม ตลอดจนนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมฯ ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาชุมชน และสังคมให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

โดยภายในกิจกรรม ประกอบด้วย การบรรยายเรื่อง “บทบาท หน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน: การแก้ไขความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชน” โดย นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน การบรรยายเรื่อง “บทบาท หน้าที่และอำนาจของกรมประชาสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน” โดย นายสุภนันท์ ฤทธิ์มนตรี ผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์

การเสวนา หัวข้อ “จับมือไว้ ไปด้วยกัน….สื่อสร้างสรรค์เพื่อการรับรู้ของประชาชน” โดย นางสายเพชร จังกาจิตต์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร นางฐานิยา นิยมญาติ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสงคราม นายณัฐวุฒิ เอกจิโรภาส นายกสมาคมผู้สื่อข่าวจังหวัดสมุทรสาคร และ น.ส.ณพิชญา ขานสระน้อย ผู้อำนวยการส่วนสร้างและพัฒนาเครือข่าย รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมฯ และการบรรยาย เรื่อง “การสนับสนุนภารกิจงานเครือข่ายของผู้ตรวจการแผ่นดินกับเครือข่ายประชาสัมพันธ์จังหวัด” โดย น.ส.ดารารัตน์ โพธิ์อุไร ผู้อำนวยการส่วนสื่อสารองค์กร สำนักสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ฯ

สำหรับ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” คือบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา ซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจหรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวน 3 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีแนวคิดมาจากประเทศสวีเดน เรียกว่า “ออมบุดสแมน” (Ombudsman) โดยทำหน้าที่ดูแลปัดเป่าเรื่องทุกข์ร้อนของประชาชนแทนพระมหากษัตริย์

ผู้ตรวจการแผ่นดิน เดิมชื่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2543 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ นายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาคนแรกของประเทศไทย และเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2543 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขึ้น ต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ขึ้น และได้เปลี่ยนชื่อองค์กรให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่โดย ใช้ชื่อว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550

กระทั่งได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติในมาตรา 230 ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ 1. เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จําเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ, 2. แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่า มีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น และ 3. เสนอต่อ ครม. ให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ปัจจุบันมีผู้ตรวจการแผ่นดินทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต เป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน รศ.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ และนายทรงศัก สายเชื้อ

ทั้งนี้ หากผู้ใดไม่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพบเห็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน สามารถแจ้งหรือร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดินได้ในหลายช่องทาง อาทิ ทางสายด่วน 1676 (โทรฟรีทั่วประเทศ), ทางไปรษณีย์ ทำหนังสือร้องเรียนส่งไปยัง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 หรือ ตู้ ปณ.333 ปณฝ.ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพฯ 10215, ทางอินเตอร์เน็ต ที่ www.ombudsman.go.th ทางสมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชัน “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” และแอปพลิเคชันไลน์ (ID Line : @ombudsman) และการร้องเรียนด้วยตนเอง ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพฯ

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *