“ธรรมนัส” ลุยพื้นที่สมุทรสาคร รับฟังปัญหากลุ่มเกษตรกร หารือภาคการประมง

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.สมุทรสาคร รับฟังปัญหาของพี่น้องเกษตรกร สั่งการเร่งด่วนปมใบรับรองสุขอนามัยพืช ช่วยเกษตรกรกล้วยไม้ รวมถึงแก้ปัญหาปลากะพงราคาตกต่ำ ปราบปลาหมอสีคางดำ และปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้ง คกก.พัฒนาเกลือทะเลไทย ด้านปัญหาภาคการประมง เน้นแก้เรื่องแรงงาน แก้ไขกฎหมายประมง นำเรือประมงออกนอกระบบ ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ คกก.ประมงจังหวัด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 ต.ค. 2566 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ณ บ่อปลากะพง ของนายเฉลิมพล เกิดปั้น (ผู้ใหญ่อ๋อย) หมู่ 5 ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โดยมีนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ พี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาคเอกชนเข้าร่วม

โดย ร.อ.ธรรมนัส ได้เปิดเวทีรับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกร ทั้งจากกลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49, สมาคมผู้เลี้ยงปลาทะเลไทย กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา จ.สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา, กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ (กุ้งขาว) กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม, สหกรณ์การเกษตรบ้านแพ้ว จำกัด สหกรณ์การเกษตรประสานกสิกิจ จำกัด, กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49, กลุ่มเกษตรกรชาวสวนผลไม้ กล้วยไม้ อ.บ้านแพ้ว และ อ.กระทุ่มแบน, กลุ่มวิสาหกิจบ้านนาโคก นาเกลือสัมพันธ์ กลุ่มอาชีพผู้ทำนาเกลือ ต.นาโคก, สหกรณ์นาเกลือสมุทรสาคร จำกัด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์ หมู่ 3 ต.โคกขาม และกลุ่มเกษตรกรนาเกลือ ต.บ้านบ่อ และ ต.กาหลง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทางกระทรวงฯ พร้อมกับฝ่ายปกครอง ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมกันแก้ปัญหาของพี่น้องกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่หลายกลุ่มด้วยกัน โดยเรื่องเร่งด่วนที่สามารถสั่งการได้ทันที ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ อาทิ มอบหมายกรมวิชาการเกษตรเร่งรัดการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phyto Certificate) สำหรับกล้วยไม้ที่จำหน่ายในท่าอากาศยานนานาชาติในประเทศไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะสามารถซื้อกล้วยไม้ไทย และถือเข้าประเทศปลายทาง โดยมีใบรับรองสุขอนามัยแนบ

รวมถึงมอบหมายกรมประมงดำเนินการแก้ปัญหาราคาปลากะพงขาวตกต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าปลากะพงขาวจำนวนมากจากต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อกลไกราคาในประเทศ รวมทั้งขอให้มีการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างอย่างเข้มงวดก่อนการอนุญาตนำเข้า และการหามาตรการปราบปรามปลาหมอสีคางดำ ที่ทำลายระบบนิเวศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตสูง จากสาเหตุปุ๋ยแพง ราคาอาหารปลาสูง และค่าแรงงานสูง และกลุ่มเกษตรกรนาเกลือซึ่งเป็นอาชีพเก่าแก่ของจังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย โดยจะมีการปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งใหม่ ซึ่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะเป็นประธานกรรมการในชุดนี้ ทั้งนี้ ได้เตรียมให้จัดประชุมนัดแรกในวันที่ 2 พ.ย. นี้ มีประเด็นการหารือที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น การสนับสนุนการแปรรูปสู่ภาคอุตสาหกรรม การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี เป็นต้น

ต่อมาเวลา 13.00 น. ร.อ.ธรรมนัส พร้อมคณะ ได้เดินทางไปที่ห้องประชุมตลาดทะเลไทย เพื่อพบปะหารือกลุ่มเกษตรกรชาวประมง ประกอบด้วย กลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กชายฝั่งทะเล ต.บางหญ้าแพรก ต.โคกขาม ต.พันท้ายนรสิงห์ และ ต.บางกระเจ้า, กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยทะเล ต.บางกระเจ้า ต.กาหลง ต.นาโคก ต.โคกขาม และ ต.พันท้ายนรสิงห์, สภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสาคร, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร, สหกรณ์พัฒนาการประมงมหาชัย จำกัด, บริษัท มหาชัยร่วมใจพัฒนา จำกัด (ตลาดทะเลไทย), ชมรมผู้ค้ากุ้งจังหวัดสมุทรสาคร, หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร, ชมรมผู้ค้าปลาจังหวัดสมุทรสาคร และสมาคมประมงภาคกลางทั้งหมด

โดยกลุ่มชาวประมง ผู้ประกอบการประมง และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้สะท้อนปัญหาต่าง ๆ ทั้งเรือประมงในน่านน้ำไทยที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายด้านประมง เรือประมงนอกน่านน้ำไทยที่ประสบปัญหาขาดแหล่งทำการประมงในน่านน้ำของรัฐชายฝั่งอื่นที่มีอยู่จำกัด และเรือประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำได้น้อยลง เนื่องจากเรือมีขนาดเล็ก ไม่สามารถออกทำการประมงได้ไกล นอกจากนี้ ยังมีปัญหาน้ำเสียจากเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และน้ำเสียจากครัวเรือน ปัญหาน้ำทะเลเน่าเสียจากปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูม และปัญหาราคาสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงตกต่ำ

โดยระยะสั้น ได้เน้นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับแรงงานซึ่งให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One stop service) การแก้ไขกฎหมายลำดับรอง การควบรวมกฎหมายฉบับต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคในการทำประมง การนำเรือประมงออกนอกระบบ โดยเฉพาะการปรับปรุงอำนาจหน้าที่คณะกรรมการประมงจังหวัด ให้สามารถแก้ไขปัญหาประมงในพื้นที่ได้อย่างคล่องตัวและทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสั่งการให้มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำชุมชนและเขตชายฝั่ง เพื่อเป็นแหล่งอาหารและฟื้นฟูระบบนิเวศ ทั้งนี้ ในวันที่ 1 พ.ย. 2566 กรมประมงจะจัดการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาภาคการประมง โดยมี รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *