“ศานิตย์” กมธ.แรงงานวุฒิสภา ลงพื้นที่สมุทรสาคร ศึกษาดูงาน บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว

กมธ.แรงงาน วุฒิสภา โดย พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รองประธานฯ คนที่ 3 ปธ.อนุ กมธ.จัดหางานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ ของ จ.สมุทรสาคร  

วันนี้ (9 ส.ค. 66) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมมหาชัย (201) ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดหางานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา นำโดย พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รองประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา คนที่ 3 ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ พร้อมด้วย พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คนที่ 3 และคณะที่ปรึกษา ได้เดินทางมาศึกษาดูงานแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม) แผนการดำเนินงานแนวทางการศึกษาของเด็กแรงงานต่างด้าว รวมไปถึงสภาพความเป็นอยู่ ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาของ จ.สมุทรสาคร โดยมีนายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการใน จ.สมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และร่วมให้ข้อมูล

นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือน มิ.ย. มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ จำนวน 261,988 คน เป็นชาวเมียนมาถึง 241,954 คน มีการจ้างแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำต่อเนื่อง เกษตร ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้าสำเร็จรูป และโลหะ ซึ่งแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเลที่ได้รับอนุญาตทำงาน มีจำนวน 4,427 คน เป็นชาวเมียนมา 4,033 คน กัมพูชา 311 คน ลาว 79 คน และอื่น ๆ 4 คน 

ซึ่งหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร กอ.รมน. ศรชล. ตรวจคนเข้าเมือง ที่ทำการปกครอง สนง.ประมงจังหวัด สนง.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สนง.สาธารณสุข  ได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กฎหมายที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ ทำให้การกำกับดูแลและความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาครมีความราบรื่น มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากการบริหารจัดการในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ขณะที่แนวทางการจัดการศึกษาให้กับเด็กต่างสัญชาตินั้น ด้วย จ.สมุทรสาคร เป็นเขตอุตสาหกรรมและอาชีพประมงเป็นหลัก จึงมีแรงงานต่างสัญชาติเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวเมียนมาเข้ามาอยู่อาศัยเพื่อทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมและลงเรือประมงเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้นำผู้ติดตามเข้ามาด้วย โดยผู้ติดตามที่มีอายุในช่วงวัยเรียนได้เข้าเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร (สพป.สมุทรสาคร) สำหรับในปีการศึกษา 2566 ตามข้อมูล DMC โรงเรียนในสังกัด จำนวน 102 แห่ง นักเรียนทั้งหมด 39,100 คน มีเด็กต่างชาติ จำนวน 3,779 คน คิดเป็นร้อยละ 9.66

โดยจัดการเรียนการสอนให้เรียนรวมกับเด็กไทย ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งจะเน้นให้เรียนรู้ภาษาไทย ซึมซับวัฒนธรรมประเพณีของไทย สืบสานพระพุทธศาสนา และร่วมทํากิจกรรมกับโรงเรียน ส่วนปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น เช่น การออกกลางคันของเด็กต่างสัญชาติ เนื่องจากกลับประเทศ ย้ายตามผู้ปกครอง หรือเข้าสู่ภาคแรงงาน (อายุเกินเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ) และที่อยู่อาศัยไม่เป็นหลักแหล่ง ยากแก่การติดตามตัว เป็นต้น

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *