
ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร เปิดกิจกรรม “สงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ปี 66 ร่วมสรงน้ำพระ ปล่อยปลา ก่อพระเจดีย์ทราย ตามแนวทางมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม ส่งเสริมให้ “ประเพณีสงกรานต์” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ของยูเนสโก
วันนี้ (10 เม.ย. 66) เวลา 13.30 น. ที่วัดเจษฎาราม พระอารามหลวง ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดกิจกรรม “สงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” พ.ศ. 2566 โดย พระเทพสาครมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14 เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ กล่าวสัมโมทนีย์ยกถา เนื่องในเทศกาลประเพณีสงกรานต์ มีนายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง และนายอาวุธ วิเชียรฉาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึง นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ นายก อบจ.สมุทรสาคร นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมกิจกรรม ภายในงานมีการสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ สรงน้ำพระภิกษุสงฆ์ ปล่อยปลา และก่อพระเจดีย์ทราย เพื่อสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทยให้คงอยู่สืบไป




สำหรับการจัดกิจกรรม “สงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” พ.ศ. 2566 เป็นไปตามแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ พ.ศ. 2566 “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” ด้วยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 63 เห็นชอบให้เสนอประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อยูเนสโก เนื่องจากประเพณีสงกรานต์มีการเฉลิมฉลองทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยตามภูมิหลั่งทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกัน อันบ่งชี้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีจุดร่วมกันเพียงหนึ่งเดียว ขณะนี้กระบวนการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของยูเนสโก





ทั้งนี้ แนวทางและมาตรการรณรงค์เรื่อง “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” ประกอบด้วย ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ มุ่งเน้นสืบสานคุณค่าสาระของประเพณีอันดีงาม พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่การรับรู้ของชาวต่างชาติ รวมถึงส่งเสริมให้จังหวัดต่าง ๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในเทศกาลสงกรานต์ ร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงาม เหมาะสม ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีสงกรานต์ เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ศาสนสถานที่นับถือ สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระพุทธรูป ขอพรผู้สูงอายุ เป็นต้น
สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ