เช็กบิลพระราม 2 อุบัติเหตุซ้ำซาก ฟ้องคดีถามความรับผิดชอบ

ภาพ : การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

กรณีอุบัติเหตุโครงสร้างนั่งร้านชั่วคราวสำหรับก่อสร้างคานขวาง (Cross Beam) ถล่มลงมาในระหว่างก่อสร้างของโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านทิศตะวันตก (สัญญาที่ 3) เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2568 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 21 คน แม้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะรื้อย้ายซากปรักหักพัง และเปิดใช้ด่านดาวคะนองตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่วนทางด่วนขาออกไปยังถนนพระรามที่ 2 ช่วงที่ขาดพังเสียหาย จะเร่งรัดซ่อมแซมภายใน 1 เดือน แต่การทวงถามความรับผิดชอบยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เสนอให้มีการฟ้องคดีต่อผู้เกี่ยวข้องเพื่อป้องปรามเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะข้อมูลจากกรมทางหลวง พบว่าตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน ถนนพระรามที่ 2 เกิดอุบัติเหตุรวมมากกว่า 2,500 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 144 ราย บาดเจ็บ 1,441 ราย และยังไม่พบว่ามีการเพิ่มมาตรการหรือพัฒนาระบบความปลอดภัยในการก่อสร้าง โดยเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ได้หารือกับสภาทนายความว่าจะสามารถฟ้องส่วนไหนได้บ้างโดยมีเป้าหมายเพื่อเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า มีการก่อสร้างถนนมากเกินจำเป็น ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งต้องพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็น ถ้ายิ่งสร้างยิ่งตาย ก็ไม่ควรสร้าง เพราะข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า การสร้างถนนเพิ่ม ไม่สามารถแก้ปัญหารถติดได้ แต่ควรนำงบประมาณส่วนที่เหลือพัฒนาบริการขนส่งมวลชน ขณะเดียวกัน การลงทุนเรื่องความปลอดภัยในปัจจุบันต่ำมาก มูลค่าชีวิตของประชาชนต่ำเหลือเกิน จึงมีแนวคิดว่า ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย และตระหนักว่าการลงทุนเรื่องความปลอดภัยมีมูลค่าน้อยกว่าการชดเชยเยียวยาต่อผู้บริโภค

  • ความเสียหายที่มองไม่เห็น ค้าขายไม่ได้ คนหนีไปใช้เส้นอื่น

ด้านนางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ภาพที่ผ่านมาของถนนพระราม 2 คือ “ตาย จ่าย จบ” มีเพียงการจ่ายเงินเยียวยาเป็นรายกรณี แต่กลับไม่เห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบ และปรับปรุงเรื่องความปลอดภัย จึงไม่สามารถมั่นใจได้ว่า ในอนาคตจัต้องเกิดอุบัติเหตุในลักษณะเดียวกันอีกกี่ครั้ง ต้องมีผู้เสียชีวิตอีกกี่รายจึงจะเกิดการปรับปรุง จึงเป็นสาเหตุที่ สภาผู้บริโภคเข้ามาหารือร่วมกับสภาทนายความในเรื่องการฟ้องคดี ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วโดยความผิดพลาดของมนุษย์ก็ต้องมีคนรับผิดชอบ ซึ่งควรจะเป็นใคร ก็ต้องหาข้อมูลและหารือร่วมกัน

นอกจากเรื่องความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแล้ว ยังมีความเสียหายที่มองไม่เห็น เช่น ผู้ค้าในตลาดแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ที่มักจะขายของได้ดีในวันเสาร์และอาทิตย์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นทำให้สูญเสียรายได้ รวมถึงเรื่องการเดินทาง ต้องเปลี่ยนเส้นทางที่ใช้สัญจร ยังไม่รวมถึงปัญหารถติด คนที่จำเป็นต้องผ่านหรืออาศัยบริเวณที่เกิดเหตุได้รับความเดือดร้อน ต้องช่วยกันคิดจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร

นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า การฟ้องคดีเป็นหน้าที่ของสภาทนายความในการลงไปดูรายละเอียดทั้งหมด หลังจากนี้จะตั้งคณะทำงานเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ และรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานทั้งสภาผู้บริโภค สภาวิศวกร รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงสำหรับใช้ในการดำเนินคดีต่อไป โดยคาดว่าสามารถเริ่มดำเนินการได้ไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งจะดำเนินการในทุกมิติทั้งคดีแพ่ง และคดีปกครอง ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ส่วนคดีอาญาจะติดตามอย่างใกล้ชิด

  • แนะผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานรัฐ-การทางพิเศษได้

ด้านความเห็นจาก รศ.ดร.สุปรียา แก้วละเอียด รองอธิการบดี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชนและศูนย์กฎหมายภาษีอากร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า อุบัติเหตุบนถนนพระรามที่ 2 ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมามักถูกโยนให้เป็นความผิดของบริษัทเอกชนเพียงฝ่ายเดียว แต่ในความจริงแล้วหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการ ก็ต้องรับผิดจากความบกพร่องในการควบคุมดูแลโครงการก่อสร้างและอาจถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลได้เช่นกัน

นอกจากผู้เสียหายจะสามารถฟ้องบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นคดีอาญา เช่น ฐานประมาทเลินเล่อทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือคดีแพ่งด้วยเหตุละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 แล้ว ยังสามารถฟ้องหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ที่ศาลปกครองได้อีกด้วย

“หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ตามกฎหมายในการควบคุมกำกับดูแลโครงการก่อสร้างที่เอกชนดำเนินการให้มีความปลอดภัย ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำโดยประมาทเลินเล่อ หรือละเว้นไม่กระทำการทั้งที่มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการก่อสร้าง จนส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตของประชาชน หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เช่น ค่าปลงศพ ค่าเสียหายทางทรัพย์สิน ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดู” รศ. ดร.สุปรียา กล่าว

  • ยกคดีสะพานกลับรถถล่ม กรมทางหลวงต้องจ่ายสินไหม

นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นผู้เสียหายสามารถฟ้องหน่วยงานของรัฐต่อศาลปกครองเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้ โดยที่ผ่านมามีการฟ้องร้องรัฐให้ต้องรับผิดจากความบกพร่องของโครงการก่อสร้างที่ดำเนินการโดยเอกชนอยู่หลายคดี และหนึ่งในนั้น คือคดีที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างถนนพระราม 2 ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ 2565/2566

จากเหตุการณ์สะพานกลับรถบนถนนพระราม 2 บริเวณ กม.34 พังถล่มลงมาทับรถยนต์ที่สัญจร เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2565 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 2 ราย ซึ่งต่อมาบิดาและมารดาของผู้เสียชีวิตฟ้องกรมทางหลวง อันเนื่องมาจากกรมทางหลวงได้ประกาศซ่อมพื้นสะพานกลับรถถนนพระราม 2 ซึ่งในระหว่างการซ่อมแซมดังกล่าว ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายใต้สังกัดกรมทางหลวง คือนายช่างโครงการ (Project Engineer) ไม่มีการจัดเหล็กเส้นยึดเหนี่ยวระหว่างการรอรื้อสะพาน ส่งผลให้คานปูนสะพานกลับรถนั้นถล่มและหล่นทับรถยนต์ของประชาชนผู้สัญจรในขณะนั้น

คดีดังกล่าว ศาลปกครองพิพากษาว่า อุบัติเหตุดังกล่าวไม่ใช่เหตุสุดวิสัย หากเจ้าเหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี (กรมทางหลวง) ได้จัดการระมัดระวังตามสมควรในการควบคุมดูแลในการปฏิบัติงานและดูแลความปลอดภัยในระหว่างการดำเนินการงานก่อสร้างและบูรณะสะพานอย่างเคร่งครัด อุบัติเหตุย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงได้ละเลยต่อหน้าที่ในการป้องกันภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นตามมาตรา 4 และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 ประกอบข้อ 2 ข้อ 17 (1) และ (3) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2558 จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดี (กรมทางหลวง) จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

“จากคำพิพากษาเห็นได้ว่า เมื่อเกิดกรณีความเสียหายอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยของรัฐใดที่ต้องกระทำนั้น แม้จะเป็นความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของเอกชนที่ได้รับว่าจ้างจากหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐนั้นก็ดี หรือเป็นความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของหน่วยงานของรัฐก็ดี หน่วยงานของรัฐดังกล่าวย่อมต้องผูกพันในผลของการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายนั้นด้วย ดังนั้น สำหรับเหตุการณ์ล่าสุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการย่อมมีหน้าที่กำกับดูแลให้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทยต่อศาลปกครองได้” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว

ภาพ : การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
  • ย้ำฟ้องหน่วยงานรัฐถือเป็นกลไกเยียวยา ไล่เบี้ย จนท.ละเมิดได้

อย่างไรก็ตาม การฟ้องหน่วยงานของรัฐมักจะมีข้อกังวลตามมาว่า การที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะเป็นภาระแก่ประชาชนเพราะเป็นการนำงบประมาณแผ่นดินซึ่งมาจากรายได้ที่เป็นภาษีอากรมาจ่าย แต่ต้องเข้าใจว่าการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเป็นกลไกในการเยียวยาความเสียหายนี้เพื่อคุ้มครองประชาชนที่ถูกละเมิดโดยหน่วยงานของรัฐ โดยหน่วยงานของรัฐย่อมใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับเจ้าหน้าที่ที่ทำละเมิดได้ หากเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

“การฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ เจ้าของโครงการเป็นมาตรการในการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับความเสียหายเท่านั้น และเป็นเพียงการสร้างความตระหนักให้กับรัฐบาลในการควบคุมดูแลโครงการก่อสร้างให้ดีขึ้นเท่านั้น ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและไม่ยั่งยืน สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือควรเน้นมาตรการเชิงป้องกัน หากพิจารณาแนวทางในการป้องกันปัญหาเรื่องนี้ จะพบว่าในหลายประเทศใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมดูแลการก่อสร้างของเอกชนที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้” รศ. ดร.สุปรียา กล่าว

ภาพ : การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
  • แนะ 4 มาตรการป้องกันดีกว่าล้อมคอก สมุดพกผู้รับเหมาไม่ช่วยอะไร

รศ.ดร.สุปรียา กล่าวถึงข้อเสนอที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต โดยแบ่งออกเป็น 4 มาตรการ ได้แก่

  1. กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย เช่น กำหนดทุกโครงการก่อสร้างภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการในพื้นที่สาธารณะจัดทำระบบบริหารความปลอดภัย (Safety Management System – SMS) กำหนดให้มี เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยประจำโครงการ (Project Safety Officer) ที่ต้องผ่านการอบรมและมีใบอนุญาตรับรองจากรัฐ
  2. กำหนดมาตรการการตรวจสอบ เช่น มีเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบจากภายนอก (Independent Safety Auditor) ที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อประเมินความปลอดภัยอย่างเป็นกลาง มีการตรวจ Site ก่อสร้างแบบสุ่ม (Random Inspection) และมีอำนาจสั่งให้ระงับการดำเนินการได้หากเห็นว่าไม่ปลอดภัย
  3. กำหนดมาตรการลงโทษที่ได้สัดส่วนและมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและความเสียหายต่อสาธารณะ เช่น ประเทศออสเตรเลียมีฐานความผิด Industrial Manslaughter เมื่อมีลูกจ้างหรือบุคคลอื่นเสียชีวิต เพราะนายจ้างหรือบริษัทประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในหน้าที่ดูแลความปลอดภัย ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 25 ปี และโทษปรับองค์กร (Corporate Penalty) สูงสุดถึง 16.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษมีฐานความผิด Corporate Manslaughter โดยมีโทษปรับที่ไม่จำกัดจำนวนเงิน อันเป็นความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลที่ครอบคลุมไม่ว่าเป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วน องค์กรของรัฐ เพื่อให้องค์กรใส่ใจในมาตรการความปลอดภัยอย่างจริงจัง
  4. กำหนดมาตรการด้านความโปร่งใสของโครงการก่อสร้าง เช่น ประเทศออสเตรเลียกำหนดให้โครงการก่อสร้างต้องมีการเปิดเผยข้อมูลด้านความปลอดภัยสู่สาธารณะ (Public Safety Records) ประชาชนสามารถตรวจสอบชื่อผู้รับเหมา รายงานอุบัติเหตุ ผลการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยงานของรัฐได้ตลอดเวลา เพื่อเป็นการสร้างแรงกดดันทางสังคม ทำให้หน่วยงานของรัฐต้องจริงจังต่อการคัดเลือกบริษัทก่อสร้าง และควบคุมดูแลโครงการก่อสร้างอย่างจริงจังอีกด้วย

“ถ้ารัฐบาลมัวแต่จดสมุดพกของบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยไม่แก้ไขปัญหาเรื่องมาตรการความปลอดภัยของถนนพระราม 2 อย่างจริงจัง เชื่อว่าสถิติของความสูญเสียและสถิติคดีที่ประชาชนฟ้องหน่วยงานของรัฐคงไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้” รศ. ดร.สุปรียา กล่าว

  • ย้อนรอยคำพิพากษาคดีสะพานกลับรถ

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2566 ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กรมทางหลวงชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะให้แก่นายณรงค์ รักท้วม และนางพยม รักท้วม บิดาและมารดาของ น.ส.สุวรรณี รักท้วม ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สะพานกลับรถบนถนนพระราม 2 บริเวณ กม.34 พังถล่มลงมาทับรถยนต์ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2565 จำนวน 907,150.68 บาท พร้อมดอกเบี้ย และชดใช้ค่าเสียหายทดแทนกรณีรถยนต์เสียหาย เฉพาะค่าส่วนต่างหลังจากบริษัทประกันได้ชดใช้ค่าเสียหายให้บิดา จำนวน 20,158.90 บาท

โดยศาลเห็นว่าเหตุดังกล่าวไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่เกิดจากเจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงขาดความระมัดระวังที่เบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์มาตรฐานอย่างมาก เนื่องจากการสอบสวนสาเหตุ เกิดจากในการปฎิบัติงาน มีการสกัดเพื่อแต่งพื้นสะพานเพิ่มเติม และตัดเหล็กนอกเหนือจากคำสั่งที่ได้สั่งการไว้ เป็นเหตุให้เหล็กเสริมคานขวางมีระยะฝังยึดที่ไม่เพียงพอ และรอยเชื่อมอาจไม่ได้มาตรฐาน โดยที่นายช่างผู้ควบคุมงานไม่ได้ปฎิบัติหน้าที่ควบคุมงานในขณะที่เกิดเหตุ

อย่างไรก็ตาม ผู้ฟ้องคดีได้ขอค่าเลี้ยงดูผู้อุปการะทั้งสองเป็นเงิน 7,681,754 บาท แต่ศาลเห็นควรให้กำหนดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 5,000 บาท โดยนำอายุตอนเกษียณการเป็นพนักงานของ น.ส.สุวรรณี หักลบกับอายุขณะที่เสียชีวิต เพราะการกล่าวอ้างว่า น.ส.สุวรรณีประกอบอาชีพด้านบัญชีที่อื่นได้อีก 5 ปี เมื่ออายุ 60 ปี เป็นการขอค่าเสียหายในอนาคตซึ่งไม่แน่นอน ส่วนเงินโบนัสขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัท และผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงพยานหลักฐานเกี่ยวกับรายได้อื่น

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีได้ขอค่าส่วนต่างรถยนต์คันใหม่ ทดแทนรถยนต์ที่พังเสียหาย หักจากส่วนที่ได้รับจากบริษัทประกันแล้ว เป็นจำนวน 579,000 บาทนั้น ศาลเห็นว่ารถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเล็ต ออฟตร้า รุ่นปี 2006 ที่พังเสียหาย ใช้งานประมาณ 16 ปี ราคาตลาดประมาณ 80,000-120,000 บาท เห็นควรกำหนดสินไหมทดแทน 100,000 บาท เมื่อหักจากส่วนที่ได้รับจากบริษัทประกัน 80,000 บาท จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายทดแทน 20,000 บาท

ส่วนผู้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายต้องเดินทางไปพบแพทย์ด้วยรถแท็กซี่เดือนละ 1,000 บาท เพราะรถยนต์พังเสียหาย โดยบิดาขอเรียกค่าเสียหาย 17 ปี รวม 204,000 บาท มารดาขอเรียกค่าเสียหาย 18 ปี รวม 216,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย รวม 420,000 บาท ศาลเห็นว่าเป็นค่าเสียหายในอนาคต เมื่อบิดาได้ซื้อรถยนต์คันใหม่ไปแล้ว ทำให้ค่าแท็กซี่ที่ต้องเดินทางไปพบแพทย์หมดสิ้นไป ส่วนมารดาไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ได้

อย่างไรก็ตาม การที่กรมทางหลวงรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพงานศพ โดยออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และมอบเงินเยียวยา 1 ล้านบาทให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ถือเป็นการเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจ และมีความรู้สึกดีขึ้นจากการที่ทางราชการได้มอบเงินช่วยเหลือ จึงเป็นกรณีที่กรมทางหลวงได้ปฎิบัติตามหลักการปฎิบัติข้าราชการที่ดี โดยการเยียวยาความเสียหายโดยเร็วและจำนวนเงินที่เหมาะสม ในกรณีที่ได้กระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ ซึ่งควรเป็นบรรทัดฐานในการปฎิบัติราชการที่ดี สมควรจะต้องกระทำต่อไป หากเกิดกรณีที่มีความเสียหายเช่นเดียวกับคดีนี้

กิตตินันท์ นาคทอง / เรียบเรียง

ที่มา

(1) https://www.tcc.or.th/20032568_tccxlawyercc-ramaii_news/

(2) https://tu.ac.th/thammasat-200368-social-asks-tu-acts-rama-2-beam-collapsed

(3) https://www.admincourt.go.th/admincourt/Casefile/admcase/document/signed/2024/pdf/2565/01021-652131-1f-661227-0000765673.pdf

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *