ชิงดำ 4 คลื่นวิทยุชุมชนสมุทรสาคร กสทช.ประมูล 1 คลื่น เริ่มต้นสองหมื่นห้า


หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หลังวันที่ 31 ธ.ค. 2567 เป็นต้นไป คลื่นวิทยุชุมชนที่ได้รับออกอากาศ คือคลื่นที่รับสิทธิทดลองออกอากาศต่อตามบทเฉพาะกาล โดยส่งผังรายการและแบบรายงานทางเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดไปแล้วก่อนหน้านี้เท่านั้น เพราะในปี 2568 จะมีการประมูลคลื่นวิทยุชุมชนประเภทธุรกิจ รวมทั้งคัดเลือกคลื่นประเภทสาธารณะและชุมชน ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ปัจจุบันในประเทศไทย มีผู้ประกอบการวิทยุชุมชน 3,675 สถานี แบ่งเป็นประเภทธุรกิจ 2,982 สถานี ประเภทสาธารณะ 548 สถานี และประเภทชุมชน 145 สถานี สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร มีผู้ประกอบการวิทยุชุมชน 19 สถานี แบ่งเป็นประเภทธุรกิจ 16 สถานี ประเภทสาธารณะ 1 สถานี ได้แก่ เสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ วัดป่ามหาไชย (FM 97.25 MHz.) ของมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ในพระอุปถัมภ์ฯ และประเภทชุมชน 2 สถานี แต่ก็มีบางสถานีที่หยุดประกอบกิจการไปแล้วก่อนหน้านี้

ณ วันที่ 22 ธ.ค. 2567 มีวิทยุชุมชนในจังหวัดสมุทรสาคร ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ พร้อมชำระค่าธรรมเนียมและหลักประกันแก่ กสทช. แล้ว 4 สถานี ได้แก่ คนรางสายบัว (FM 101.75 MHz.) บริษัท ภุตอรมีเดีย จำกัด, ชุมชนคนสวนหลวง (FM 97.75 MHz.) ห้างหุ้นส่วนจำกัด สราญรมย์มีเดีย, โพธิ์แจ้ เรดิโอ (FM 92.25 MHz.) ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคพีเอฟ เจริญทรัพย์ และ Radio Zapp (FM 90.75 MHz.) ห้างหุ้นส่วนจำกัด เรดิโอแซ่บ ซึ่งสำนักงาน กสทช. กำหนดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์ได้ถึงวันที่ 27 ธ.ค. 2567

สำหรับการประมูลคลื่นวิทยุชุมชนในจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า กสทช. ได้จัดสรรคลื่นความถี่ทุกคลื่นไม่เกิน 1.0 กิโลวัตต์ ความสูงสายอากาศไม่เกิน 60 เมตร ทั้งหมด 4 สถานี ได้แก่ ประเภทกิจการทางธุรกิจ ระดับท้องถิ่น 1 สถานี คือ Samut Sakhon-B1 อำเภอเมืองสมุทรสาคร 95.25 MHz. ประเภทกิจการสาธารณะ ระดับท้องถิ่น 1 สถานี คือ Samut Sakhon-B2 อำเภอเมืองสมุทรสาคร 97.25 MHz. ประเภทกิจการชุมชน ระดับท้องถิ่น 2 สถานี คือ Samut Sakhon-B3 อำเภอบ้านแพ้ว 101.25 MHz. และ Samut Sakhon-B4 อำเภอบ้านแพ้ว 101.75 MHz.

โดยระบุเงื่อนไขเอาไว้ว่า สถานีวิทยุกระจายเสียงที่มีที่ตั้งในบริเวณใดก็ได้ภายในขอบเขตที่ตั้งสายอากาศของสถานีนั้นๆ ที่ต้องพิจารณาอนุญาตเป็นรายกรณี ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะดำเนินการจำลองการใช้งานคลื่นความถี่ ก่อนพิจารณาอนุญาตต่อไป โดยการใช้งานคลื่นความถี่นั้น ต้องไม่ก่อให้เกิดการรบกวนต่อสถานีวิทยุกระจายเสียง ภาคผนวก ก ตามประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ดังนั้น บางกรณีอาจต้องมีการปรับปรุงคุณลักษณะทางเทคนิคบางประการ เพื่อไม่ก่อให้เกิดการรบกวนดังกล่าว

ความน่าสนใจก็คือ ประเภทกิจการทางธุรกิจ ระดับท้องถิ่น มีคลื่นความถี่ให้ประมูลเพียงคลื่นเดียว ได้แก่ FM 95.25 MHz. อำเภอเมืองสมุทรสาคร พบว่าเป็นคลื่นที่มีผู้ประกอบการอยู่เดิม กำหนดราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่ที่ 25,000 บาท โดยเสนอเพิ่มราคาเป็นจำนวนเต็มเท่าของขั้นราคา 1,000 บาท เรื่อยไปกระทั่งหมดเวลาประมูล 60 นาที โดยผู้ประกอบการ 1 ราย สามารถรับใบอนุญาตได้ 1 คลื่นความถี่ ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี

ส่วนประเภทกิจการสาธารณะ ระดับท้องถิ่น 1 คลื่น ได้แก่ FM 97.25 MHz. อำเภอเมืองสมุทรสาคร พบว่าเป็นคลื่นเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ วัดป่ามหาไชย ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งโดยคุณสมบัติกำหนดให้เฉพาะหน่วยงานราชการ สถานศึกษา สมาคมหรือมูลนิธิเท่านั้น

ส่วนประเภทกิจการชุมชน ระดับท้องถิ่น 2 คลื่น เฉพาะอำเภอบ้านแพ้วเท่านั้น พบว่าเป็นคลื่นที่มีผู้ประกอบการอยู่เดิม ได้แก่ FM 101.25 MHz. และ FM 101.75 MHz. แม้จะไม่มีการประมูล แต่หากมีผู้สนใจขอรับใบอนุญาตมากกว่า 1 ราย กสทช. จะนำข้อมูลมาพิจารณาความเหมาะสมและศักยภาพ เปรียบเทียบกับผู้ยื่นคำขอรายอื่นๆ ได้แก่ ความพร้อมด้านมาตรฐานทางเทคนิคในการใช้งานคลื่นความถี่ ข้อมูลด้านการบริหารจัดการสถานี ข้อมูลแผนการให้บริการกระจายเสียง ข้อมูลผังรายการและเนื้อหารายการ

อีกด้านหนึ่ง ผลของการที่ กสทช. เปลี่ยนผ่านวิทยุชุมชนไปสู่ระบบประมูลใบอนุญาต ทำให้ผู้ประกอบการอีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา องค์กรภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนแห่งประเทศไทย (อวชท.) นำโดย นายชาลี นพวงศ์ ณ อยุธยา ยื่นหนังสือถึงวุฒิสภาเพื่อขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของ กสทช.เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่วิทยุ FM อาจขัดต่อกฎหมายและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเอกชนจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ

ขณะเดียวกัน นายวุฒิศักดิ์ มีสอน ตัวแทนผู้ประกอบการวิทยุชุมชนจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ได้ยื่นหนังสือให้ กสทช. เลื่อนการประมูลคลื่นออกไปก่อนจนกว่ากฎหมาย พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่จะแล้วเสร็จ เนื่องจาก กสทช. กำหนดไว้ให้วิทยุชุมชนทุกสถานีออกอากาศได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567 เท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการวิทยุภาคประชาชน

จับตาวิทยุชุมชนสมุทรสาคร ที่จะเหลือ 4 คลื่นในอนาคตอันใกล้ หลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใบอนุญาตของ กสทช. ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของประชาชนที่เปลี่ยนไป

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *