
ข่าวคราวการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ หรือปลาหมอสีคางดำ ที่สำนักงานประมงจังหวัดสงขลาประกาศจับ กลายเป็นที่ฮือฮาบนโซเชียลฯ เพราะจากต้นกำเนิดการแพร่ระบาดที่จังหวัดสมุทรสงคราม ไม่น่าเชื่อว่าจะไปไกลขนาดนี้
ปลาหมอคางดำ ลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับปลาหมอเทศ พบได้ทั้งน้ำจืด บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน และในทะเล เพศผู้จะมีสีดำบริเวณหัว และบริเวณแผ่นปิดเหงือกมากกว่าเพศเมีย
สัตว์น้ำต่างถิ่น สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร
สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ระบุว่า หากคุณมีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับที่ที่เขาอยู่ โปรดติดต่อและแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา หรือสำนักงานประมงอำเภอใกล้บ้านท่าน
ที่ตกใจยิ่งกว่า คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พบว่าในขณะนี้มีถึง 13 จังหวัด บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและพื้นที่ใกล้เคียง
ไล่ตั้งแต่จันทบุรี ระยอง สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ สงขลา ส่วนอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ตราด ชลบุรี และฉะเชิงเทรา กำหนดให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง
ลักษณะการแพร่ระบาดจะพบทั้งคลองที่เชื่อมถึงกัน และพบเฉพาะบางแหล่งน้ำที่ห่างไกลออกไปซึ่งพบบางพื้นที่ ส่วนอีก 9 จังหวัดยังไม่พบการแพร่ระบาด คือ พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ปลาหมอคางดำ มีต้นกำเนิดการระบาดมาจากตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาตั้งแต่ปี 2555 ก่อนแพร่กระจายไปในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี
ต้นเหตุมาจาก “บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง” ขออนุญาตกรมประมงทดลองนำเข้าปลาหมอคางดำ 2,000 ตัว จากประเทศกานา ทวีปแอฟริกา เข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยเมื่อปี 2553 โดยใช้ศูนย์ทดลองของบริษัทเอกชน
ปรากฏว่าตายหมดภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทฯ จึงได้นำซากปลาไปฝังกลบ โรยปูนขาว และแจ้งกรมประมงให้ทราบทางวาจา โดยไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการและเก็บซากปลาส่งให้กรมประมงตามเงื่อนไขการอนุญาต
ผ่านมา 2 ปี ในปี 2555 เกษตรกรในตำบลยี่สารพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นครั้งแรก และเนื่องจากเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น กินอาหารเก่ง กินได้ทั้งแพลงก์ตอนพืช และลูกกุ้ง ลูกปลาที่มีขนาดเล็กๆ แพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว อัตราการรอดตายสูง
ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่น รวมถึงบ่อเลี้ยง สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร ขยายวงกว้างหลายจังหวัด
ผ่านมา 5 ปี มาถึงปี 2560 กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่งกำหนดนโยบายในการแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งจัดโครงการกำจัดปลาหมอคางดำ ปล่อยปลากะพงขาว และประชาสัมพันธ์ให้จับไปแปรรูปเพื่อบริโภค
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านโยบายภาครัฐยังคงวนเวียนอยู่กับการจับปลาหมอคางดำทุกปี บ้างก็สนับสนุนให้บริโภค บ้างก็ให้นำไปทำเป็นอาหารสัตว์ แล้วดูเหมือนว่าจะต้องทำแบบนี้ทุกปี
ในขณะที่การแพร่ระบาด จากสามจังหวัดที่เป็นต้นกำเนิด สมุทรสงคราม-สมุทรสาคร-เพชรบุรี วันนี้ขยายวงกว้างมากถึง 13 จังหวัดทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความหย่อนยานในการกำจัดที่ไปไม่ถึงต้นตอ
รวมทั้งบริษัทเอกชน ผ่านมากว่า 10 ปี ยังไม่เห็นว่าจะถูกภาครัฐลงโทษ หรือให้ต้องรับผิดชอบ ชดใช้ความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่ถูกทำลายใดๆ
กังวล และอดคิดไม่ได้ ที่จะนึกถึงเหตุการณ์ความมั่นคงบางเหตุการณ์ ที่สุดท้ายมีวลีทำนองว่า “เหตุการณ์สงบ…งบไม่มา”
-กิตตินันท์ นาคทอง-