
22 กุมภาพันธ์ 2565 ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนโลโก้และชื่อเรียกศูนย์การค้าใหม่ทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา มหาชัย ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ก็เป็นหนึ่งในสาขาที่เปลี่ยนโลโก้และชื่อเรียกใหม่กับเขาด้วย
สำหรับโลโก้และชื่อเรียกใหม่จะไม่มีคำว่าพลาซา เหลือเพียงคำว่า เซ็นทรัล มหาชัย (CENTRAL MAHACHAI) เน้นไปที่ตัวอักษรภาษาอังกฤษ H สองตัว มีลักษณะ 2 ขีด คล้ายกับรางรถไฟ สื่อให้เห็นถึงทางรถไฟ แม้จะไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการ แต่สื่อให้เห็นถึงที่ตั้งใกล้กับทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย ที่เปิดให้บริการมานานกว่า 118 ปี และบ้านแหลม-แม่กลอง


ส่วนเหตุผลที่ตัดคำว่าพลาซา และบางสาขาที่เป็นเฟสติวัล แม้จะไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการเช่นกัน แต่ตามรายงานระบุว่า เพื่อต้องการตอกย้ำถึงความเป็น Center of Life หรือศูนย์กลางการใช้ชีวิต ที่ต้องการให้ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลพัฒนา เป็นสถานที่ที่เป็นจุดหมายในการใช้ชีวิตที่มากกว่าการซื้อสินค้า โดยเฉพาะการทำกิจกรรมต่างๆ โดยยึดถือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
น.ส.วัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัลพัฒนา แถลงข่าวทิศทางการดำเนินงานในปี 2565 หนึ่งในนั้นระบุว่า ได้เปิดเผยอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) ใหม่ทั้งองค์กร (Corporate) และศูนย์การค้าทั่วประเทศ เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ความภูมิใจในแต่ละท้องถิ่นและแตกต่างอย่างทันสมัย โดยได้แนวคิดจากเอเยนซีด้านดีไซน์ระดับโลก

รวมทั้งทุกโครงการของเซ็นทรัลพัฒนามีส่วนสะท้อนอัตลักษณ์ Local Essence ของชุมชน ทั้งด้านศิลปะและวัฒนธรรม ความมั่งคั่งของท้องถิ่น (Local Wealth) ให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ขยายความเจริญจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในจังหวัด
รวมทั้งการสร้างและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน เป็นแพลตฟอร์มยกระดับเอสเอ็มอี อุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร และอาชีพต่างๆ ได้เข้าถึงพื้นที่การขายและลูกค้า ไม่ต่ำกว่า 40,000 ตารางเมตร คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาทต่อปี


พร้อมกันนี้ ยังนำเสนอแผนธุรกิจ 5 ปี (2022-2026) พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่างๆ มากกว่า 30 จังหวัด ด้วยงบลงทุนกว่า 120,000 ล้านบาท โดยมากกว่า 50% ของโครงการทั้งหมดจะเป็นรูปแบบมิกซ์ยูสที่มีมากกว่า 1 ธุรกิจ โดยมีศูนย์การค้าเป็นหัวใจสำคัญ และเชื่อมโยงยกระดับการใช้ชีวิตทุกรูปแบบ
โดยจะเพิ่มโครงการศูนย์การค้าอีก 14 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มโครงการที่พักอาศัยอีก 45 โครงการ ทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม เพิ่มอาคารสำนักงานอีก 10 แห่ง ในทำเลที่เป็น CBD (Central Business District หรือศูนย์กลางทางธุรกิจ) และเพิ่มโรงแรมแบรนด์น้องใหม่อีก 35 แห่ง เพื่อยกระดับทำให้ทุกเมืองเป็นเมืองท่องเที่ยว

คาดว่าในปี 2569 จะมีจำนวนโครงการศูนย์การค้า 50 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ, คอมมูนิตีมอลล์ 16 แห่ง (อยู่ระหว่างการศึกษาการขยาย), โครงการที่พักอาศัย 68 แห่ง, อาคารสำนักงาน 13 แห่ง และโรงแรม 37 แห่ง โดยมีแผนจะเปิดศูนย์การค้าเพิ่มอีก 1 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัล จันทบุรี ภายในไตรมาส 2 ของปี 2565
สำหรับผลประกอบการในปี 2564 ที่ผ่านมา เซ็นทรัลพัฒนามีรายได้รวม 28,977 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 7,148 ล้านบาท

สำหรับการเปลี่ยนโลโก้ศูนย์การค้าใหม่ของศูนย์การค้าเซ็นทรัล เดิมเซ็นทรัลพัฒนามีแผนเปลี่ยนโลโก้ใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2564 แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนออกไป เหลือเพียงแค่นำเสนอโลโก้ใหม่อย่างเงียบๆ ผ่านมาสคอตที่ชื่อว่าหมีกู๊ดดี้ สวมเสื้อที่เป็นโลโก้ใหม่เท่านั้น
นับจากนี้ สื่อโฆษณาภายในศูนย์การค้า จะเปลี่ยนไปใช้โลโก้ใหม่ทั้งหมด ส่วนการเปลี่ยนโลโก้ใหม่บริเวณอาคารศูนย์การค้า จะเริ่มทยอยเปลี่ยน หลังจากนำมาใช้กับศูนย์การค้าเซ็นทรัล ศรีราชา จ.ชลบุรี, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล อยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 2 ที่เพิ่งรีโนเวตใหม่
-กิตตินันท์ นาคทอง-