
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ “เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” เปิดซองราคา 6 สัญญาเรียบร้อยแล้ว รอบอร์ด รฟม.อนุมัติ ก่อสร้างปี 65 คาดเปิดให้บริการปี 70 ย่านพระราม 2 รับอานิสงส์สถานีบางปะแก้ว และสถานีบางปะกอกพร้อมอาคารจอดแล้วจร เชื่อมต่อสายสีน้ำเงินที่สถานีสามยอดและเตาปูน แถมนั่งยาวไปถึงบางใหญ่ได้อีก
เริ่มชัดเจนขึ้นมาแล้วสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อการประกวดราคางานจ้างก่อสร้างงานโยธาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ได้ผู้ชนะการประมูลเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอคณะกรรมการ รฟม. เพื่ออนุมัติและลงมือก่อสร้างต่อไป
สำหรับการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 6 สัญญา ได้แก่
สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ได้กลุ่ม CKST-PL JOINT VENTURE (ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เสนอราคา 19,433 ล้านบาท
สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า ได้กลุ่ม CKST-PL JOINT VENTURE (ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)) เสนอราคา 15,880 ล้านบาท
สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้าฯ-สะพานพุทธ ได้กลุ่ม ITD – NWR MRT JOINT VENTURE (ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน)) เสนอราคา 15,109.38 ล้านบาท
สัญญาที่ 4 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง ได้บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) เสนอราคา 14,982 ล้านบาท
สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง-ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) ได้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) เสนอราคา 13,139.87 ล้านบาท
สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ ได้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) เสนอราคา 3,591.36 ล้านบาท
โครงการนี้มีแผนที่จะลงมือก่อสร้างในปี 2565 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี พร้อมโรงจอดรถไฟฟ้า ตั้งอยู่บริเวณริมถนนกาญจนาภิเษก ข้างด่านเก็บค่าผ่านทางบางพลี – สุขสวัสดิ์ ด้านขาเข้าเมือง และอาคารจอดแล้วจร สถานีบางปะกอก และสถานีราษฎร์บูรณะ
เริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ของสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) ลดระดับลงใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก ถนนทหาร ถนนสามเสน เลี้ยวซ้ายถนนพระสุเมรุ แยกผ่านฟ้าลีลาศ ถนนมหาไชย ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ถนนประชาธิปก ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ก่อนยกระดับขึ้นไปบริเวณดาวคะนอง ไปตามถนนสุขสวัสดิ์ สิ้นสุดที่ย่านครุใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
สำหรับสถานีรถไฟฟ้า ประกอบด้วย สถานีใต้ดิน 10 สถานี ได้แก่
- สถานีรัฐสภา (PP17) ถนนสามเสน หน้าอาคารรัฐสภา สี่แยกเกียกกาย
- สถานีศรีย่าน (PP18) ถนนสามเสน หน้ากรมชลประทาน ใกล้สี่แยกศรีย่าน (เชื่อมต่อเรือด่วนเจ้าพระยา ท่าเรือพายัพ)
- สถานีวชิรพยาบาล (PP19) ถนนสามเสน หน้าโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ใกล้สี่แยกซังฮี้ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
- สถานีหอสมุดแห่งชาติ (PP20) ถนนสามเสน หน้าหอสมุดแห่งชาติ ใกล้มหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร และตลาดเทเวศ (เชื่อมต่อเรือด่วนเจ้าพระยา ท่าเรือเทเวศร์)
- สถานีบางขุนพรหม (PP21) ถนนสามเสน หน้าวัดเอี่ยมวรนุชและวัดสามพระยา ใกล้สี่แยกบางขุนพรหม ธนาคารแห่งประเทศไทย
- สถานีผ่านฟ้า (PP22) ถนนพระสุเมรุ หน้าหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ แยกผ่านฟ้า (ในอนาคตเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย)
- สถานีสามยอด (PP23) ถนนมหาไชย หน้าสวนรมณีนาถ ใกล้คลองโอ่งอ่าง (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีสามยอด)
- สถานีสะพานพุทธ (PP24) ถนนประชาธิปก ใกล้วัดพิชยญาติการาม โรงเรียนศึกษานารี และสี่แยกบ้านแขก
- สถานีวงเวียนใหญ่ (PP25) ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน หน้าตลาดเงินวิจิตร (เชื่อมต่อรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย และในอนาคตเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง)
- สถานีสำเหร่ (PP26) ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน บริเวณตลาดสำเหร่ และคลองสำเหร่ ใกล้โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี

ส่วนสถานียกระดับ 7 สถานี ได้แก่
- สถานีดาวคะนอง (PP27) ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ใกล้ตลาดดาวคะนอง แยกดาวคะนอง (ถนนจอมทอง)
- สถานีบางปะแก้ว (PP28) ถนนสุขสวัสดิ์ หน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาสุขสวัสดิ์ โรงเรียนสิริอักษรธนบุรี และปากซอยสุขสวัสดิ์ 14
- สถานีบางปะกอก (PP29) ถนนสุขสวัสดิ์ หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบางปะกอก เลยห้างบิ๊กซี สาขาบางปะกอก มีอาคารจอดแล้วจร รับรถได้ 1,657 คัน
- สถานีแยกประชาอุทิศ (PP30) ถนนสุขสวัสดิ์ หน้าวัดสารอด ปากซอยสุขสวัสดิ์ 44 ก่อนถึงแยกประชาอุทิศ (กม.9)
- สถานีราษฎร์บูรณะ (PP31) ถนนสุขสวัสดิ์ ก่อนถึงไฟแดงวัดสน มีอาคารจอดแล้วจร 2 อาคาร ฝั่งขาเข้าเมืองรองรับได้ 864 คัน ฝั่งขาออกเมืองรองรับได้ 514 คัน รวม 1,378 คัน
- สถานีพระประแดง (PP32) ถนนสุขสวัสดิ์ บริเวณสามแยกพระประแดง หน้าธนาคารกรุงไทย และตลาดพระประแดงอาเขต
- สถานีครุใน (PP33) ถนนสุขสวัสดิ์ หน้าปั๊มซัสโก้ และโชว์รูมโตโยต้าพระประแดง เป็นสถานีปลายทาง (เชื่อมต่อรถประจำทางไปยัง อ.พระสมุทรเจดีย์ และป้อมพระจุลจอมเกล้า)

สำหรับคนที่อยู่อาศัยย่านถนนพระราม 2 และสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ห่างจากแยกบางปะแก้ว 28 กิโลเมตร ในอนาคตสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้ โดยผู้ที่ขับรถยนต์ส่วนตัวมาเอง แนะนำให้ใช้บริการที่สถานีบางปะกอก มีอาคารจอดแล้วจรรองรับ ส่วนรถประจำทางจากถนนพระราม 2 ลงรถเมล์ที่ป้ายวัดนาคนิมิตร แล้วเดินย้อนไปสถานีประมาณ 100 เมตร ซึ่งจะใกล้มากกว่า
รถประจำทางจากถนนพระราม 2 สายที่ผ่าน ได้แก่ สาย 68 (อู่แสมดำ-บางลำพู และ สมุทรสาคร-บางลำพู) สาย 76 อู่แสมดำ-ประตูน้ำ, สาย 101 วัดยายร่ม-อู่บรมราชชนนี, สาย 105 มหาชัยเมืองใหม่-คลองสาน, สาย 147 วงกลมเคหะธนบุรี-บางแค, สาย 209 วงกลมกัลปพฤกษ์-ถนนพระราม 2 เป็นต้น
ส่วนรถประจำทางจากถนนจอมทอง ได้แก่ สาย 120 สมุทรสาคร-แยกบ้านแขก ในอนาคตสามารถใช้บริการสถานีดาวคะนองได้ นอกจากนี้ คนที่ใช้บริการรถไฟมหาชัย-วงเวียนใหญ่ ที่ในอนาคตจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ในอนาคตสามารถใช้บริการสถานีวงเวียนใหญ่ได้เช่นกัน
จากจุดนี้สามารถเดินทางไปเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ที่สถานีสามยอด, ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ที่สถานีเตาปูน เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อเรือ ท่าเรือพระนั่งเกล้า ที่สถานีสะพานพระนั่งเกล้า และสามารถนั่งต่อไปยังสถานีตลาดบางใหญ่ ซึ่งมีศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต และปลายทางสถานีคลองบางไผ่ได้
แต่ในช่วงที่กำลังก่อสร้าง การจราจรอาจจะติดขัดไปบ้าง พลันให้นึกถึงสโลแกนที่ว่า “อดทนอีกนิด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น”
-กิตตินันท์ นาคทอง-