
ในที่สุดช้อปปี้ฟู้ด (Shopee Food) บริการสั่งอาหารออนไลน์ หรือ ฟู้ดดีลิเวอรี (Food Delivery) น้องใหม่จากช้อปปี้ (Shopee) แพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง เปิดให้บริการแล้วในพื้นที่ตัวเมืองสมุทรสาคร โดยได้เปิดระบบไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเรียกใช้บริการได้ที่เมนู “ShopeeFood สั่งอาหาร” บนแอปพลิเคชัน Shopee
ก่อนหน้านี้ ชอปปี้ได้ส่งทีมงานไปสำรวจร้านอาหารต่างๆ ในเขตเทศบาลนครสมุทรสาคร ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อชักชวนผู้สนใจเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายทั้งร้านอาหาร สตรีทฟู้ด รวมไปถึงร้านที่ใช้ระบบบริหารจัดการร้านอาหารที่ชื่อว่า “โอชา” (Ocha) ที่ บริษัท ยูนิคอร์น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทย่อยของกลุ่มซี กรุ๊ป เจ้าของอาณาจักรชอปปี้เป็นผู้พัฒนาระบบ
จุดเด่นของชอปปี้ฟู้ดสำหรับฝั่งผู้บริโภคก็คือ คนที่ใช้งานช้อปปี้ซื้อของออนไลน์เป็นประจำอยู่แล้ว จะทราบว่าสามารถใช้โค้ดส่วนลด หรือโค้ดส่งฟรีอย่างใดอย่างหนึ่ง ผสมกับใช้เหรียญช้อปปี้ (Shopee Coin) ที่ได้จากการซื้อสินค้าที่ร่วมรายการ จ่ายบิล หรือทำกิจกรรมต่างๆ มาเป็นส่วนลดในการสั่งอาหารได้ และสามารถเลือกช่องทางการชำระเงินได้หลากหลายช่องทาง
จากการสอบถามแหล่งข่าวผู้ประกอบการร้านอาหารรายหนึ่ง ระบุว่า ทีมงานของชอปปี้ฟู้ดได้เข้ามาติดต่อกับทางร้านเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน โดยทางร้านใช้ระบบโอชาเป็นระบบบริหารจัดการร้าน ซึ่งข้อดีของช้อปปี้ฟู้ดก็คือ จะเชื่อมต่อกับระบบโอชาได้ง่าย ขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ หรือที่เรียกว่าค่าจีพี (GP) นั้น ไม่แตกต่างไปจากค่ายอื่น

แม้ช้อปปี้ฟู้ดจะเปิดให้บริการแล้ว แต่ยังคงมีร้านค้าพาร์ทเนอร์และไรเดอร์ไม่มาก อีกทั้งยังไม่ได้โปรโมตให้เป็นที่รับรู้ในระดับจังหวัด นอกจากแบนเนอร์บนแอปพลิเคชันช้อปปี้ หลายคนจึงไม่ทราบว่าอยู่ในพื้นที่ให้บริการ นอกเสียจากว่าเห็นสัญลักษณ์ Shopee Food ที่หน้าร้าน
การแข่งขันของธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรีในจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นปี 2563 โดยมีไลน์แมน (Lineman) ที่เปิดบริการแมสเซนเจอร์ (Messenger Service) รับ-ส่งสิ่งของ เมื่อปี 2560 ก่อนจะพัฒนาบริการฟู้ดดีลิเวอรี ตามมาด้วย ฟู้ดแพนด้า (Foodpanda), โรบินฮู้ด (Robinhood) ของธนาคารไทยพาณิชย์
และ แกร็บฟู้ด (Grab Food) ที่พัฒนามาจากบริการเรียกรถ หรือ ไรด์แชริ่ง (Ride Sharing) โดยได้เปิดศูนย์รับสมัครแกร็บ สาขาสมุทรสาคร ไปเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ไม่นับรวมผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ทำฟู้ดดีลิเวอรีขึ้นมาเอง เช่น พอร์โต้ ดีลิเวอรี (Porto Delivery) ของศูนย์การค้าพอร์โต้ ชิโน่ เป็นต้น
แต่ละเจ้าต่างแข่งขันในรูปแบบต่างๆ นอกจากโปรโมชันระดับส่วนกลาง โปรโมชันร่วมกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เช่น บัตรเครดิต หรือศูนย์การค้าแล้ว บางค่ายลงทุนทำการตลาดระดับท้องถิ่น เช่น การติดตั้งป้ายโฆษณาตามแหล่งชุมชนต่างๆ การซื้อสื่อโฆษณาท้องถิ่น เพื่อสร้างการรับรู้ การแจกคูปองโค้ดส่วนลดเพื่อจูงใจให้ลูกค้ามาใช้บริการ เป็นต้น
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะจากคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร และมาตรการห้ามรับประทานอาหารในร้าน นอกจากซื้อกลับไปบริโภคที่อื่น (Take Away) ช่วงที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดิมรับประทานอาหารนอกบ้าน มาเป็นสั่งผ่านดีลิเวอรีแทน เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด ธุรกิจดีลิเวอรีจึงเริ่มมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา หากไม่นับโรบินฮู้ดที่ไม่คิดค่าจีพีมาตั้งแต่ก่อตั้ง ผู้ประกอบการดีลิเวอรีพยายามลดค่าจีพีลงมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร จากเดิมประมาณ 35% ลดลงมาเป็น 32% ปัจจุบันเหลือ 30% ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม บริการดีลิเวอรีในจังหวัดสมุทรสาคร อาจยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะยังมี “แอร์เอเชียฟู้ด” (Airasia Food) ที่ซื้อกิจการมาจาก โกเจ็ก (Gojek) สตาร์ทอัพสัญชาติอินโดนีเซีย ที่ก่อนหน้านี้ให้บริการพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครในนาม “เก็ตฟู้ด” (Get Food) เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ปัจจุบันแอร์เอเชียฟู้ดเปิดให้บริการเฉพาะกรุงเทพมหานคร และมีแผนจะขยายไปทั่วประเทศ
ขณะที่กลุ่มทรู เปิดให้บริการ “ทรูฟู้ด” (True Food) เปิดตัวเมื่อเดือนมกราคม 2564 ประเดิมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 4,000 ร้านค้า ช่วงแนะนำไม่เก็บค่าจีพีถึง 31 ธันวาคม 2564 ส่วนลูกค้าทรูยังได้รับสิทธิพิเศษ และสามารถใช้คะแนนทรูพอยต์ (True Point) แลกส่วนลดค่าอาหารและค่าส่งรวมสูงสุด 240 บาทอีกด้วย
เมื่อมีผู้เล่นลงมาในตลาดมากขึ้น สงครามราคาก็จะตามมา ด้วยตัวเลือกที่หลากหลาย ผู้บริโภคได้ประโยชน์ถ้วนหน้า
ลำดับการให้บริการดีลิเวอรีในจังหวัดสมุทรสาคร
Lineman – พฤศจิกายน 2560 (เริ่มต้นจากบริการแมสเซนเจอร์ รับ-ส่งสิ่งของ)
Foodpanda – 5 กุมภาพันธ์ 2563
Get Food – มิถุนายน 2563 (ปัจจุบันปิดให้บริการหลังแอร์เอเชียซื้อกิจการ)
Robinhood – 26 ตุลาคม 2563
Grab Food – กรกฎาคม 2564
Shopee Food – พฤศจิกายน 2564
-กิตตินันท์ นาคทอง-