
เป็นที่ทราบกันดีว่า “ท่าฉลอม” นอกจากจะเป็นชื่อของตำบลหนึ่ง ซึ่งเป็น “สุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของไทย” ก็ยังเป็นชื่อของผลงานเพลงลูกกรุงอันโด่งดังและเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ
โดยบอกเล่าเรื่องราวความรักของหนุ่มตังเกชาวท่าฉลอมที่หลงรักสาวมหาชัย จากฝีมือของสองบรมครูเพลง
เนื้อร้องผ่านปลายปากกาของ “ชาลี อินทรวิจิตร” (ชื่อเดิม สง่า อินทรวิจิตร) ซึ่งเป็นชาวท่าฉลอมตั้งแต่กำเนิด ประพันธ์ทำนองโดย “สมาน กาญจนะผลิน”
ได้นักร้องเสียงอมตะ “ชรินทร์ นันทนาคร” เป็นผู้ถ่ายทอดบทเพลงต้นฉบับ เริ่มบันทึกเสียงครั้งแรกในปี 2504
นับแต่นั้นเป็นต้นมา เพลงนี้ก็ฮิตติดปากไปทั่ว และเป็นเพลงลูกกรุงอมตะมาจนปัจจุบัน
สำหรับที่มาของเพลง “ท่าฉลอม” ก่อนหน้านี้ครูชาลีได้แต่งเพลงไว้มากมาย อาทิ แสนแสบ ทุ่งรวงทอง กว๊านพะเยา สาวนครชัยศรี ฯลฯ จนถูกพี่สาวของครูชาลีต่อว่าด้วยความน้อยใจ ที่ได้แต่แต่งเพลงให้บ้านอื่นเมืองอื่น ไม่เคยแต่งเพลงให้บ้านเกิดเลยสักเพลง
ต่อมาครูชาลีได้เดินทางไปที่ท่าเรือเพื่อข้ามมายังฝั่งมหาชัย มีโอกาสได้สนทนากับ “ลุงเย็น” นายท้ายเรือในเย็นวันนั้น แล้วได้ฟังเรื่องราวความรักครั้งหนึ่งของลุงเย็นที่มีต่อสาวมหาชัยชื่อ “พยอม” ถึงขั้นว่ายน้ำข้ามฝั่งเอาปลาที่คัดอย่างดี 2-3 ตัวมาฝากอยู่เนือง ๆ
ความรักของหนุ่มตังเกท่าฉลอมดำเนินไปได้ไม่นาน สุดท้ายสาวมหาชัยกลายไปเป็นคนรักของชายจากที่อื่น
ครูชาลีก็ไม่ปล่อยให้เรื่องราวความรักนี้ผ่านเลยไปเฉย ๆ หยิบนำมาร้อยเรียงจนเป็นผลงานเพลงอมตะนิรันดร์กาล
จากความโด่งดังของเพลงท่าฉลอม ในเวลาต่อมาครูชาลี อินทรวิจิตร และครูสมาน กาญจนะผลิน ก็ได้แต่งเพลงร้องแก้ “สาวมหาชัย” ขึ้น โดยได้เสียงร้องของ “รวงทอง ทองลั่นทม” นักร้องวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว
เนื้อหาในเพลง เป็นการตัดพ้อของสาวมหาชัย ที่มองว่าความรักของหนุ่มท่าฉลอมนั้นไม่ได้รักเดียวดังที่ว่าไว้
อีกทั้งบรมครูเพลงทั้งสอง ก็ได้แต่งเพลงคู่ “มหาชัยอาลัยท่าฉลอม” โดยให้ ชรินทร์ นันทนาคร ร้องคู่กับ รวงทอง ทองลั่นทม เสมือนเป็นการปิดฉากตำนานความรักระหว่างหนุ่มท่าฉลอมกับสาวมหาชัยไปอย่างแสนเศร้า

นอกจากนี้ ก็มีศิลปินชื่อดังถึง 3 ท่าน หยิบเอาเนื้อร้องเพลงท่าฉลอม ไปดัดแปลงเป็นเพลงชวนหัว สร้างความตลกขบขันแก่ผู้ฟังทั้งหลาย
เริ่มด้วยเพลง “ท่าแฉลบ” ของ “มีศักดิ์ นาครัตน์” หรือ “อามี” นักร้องและนักแต่งเพลงแปลง หนึ่งในสมาชิกของคณะ “สามศักดิ์” อันโด่งดังช่วงต้นทศวรรษ 2500
เนื้อเพลงเป็นเรื่องราวของชายชาวท่าแฉลบ (เป็นชื่อตำบลหนึ่ง อยู่ที่ จ.จันทบุรี) ซึ่งถูกชาวกรุงผู้ร่ำรวยแย่งคนรักไป และฝากถึงหญิงสาวให้หยั่งหัวใจเอาไว้ก่อน มีการแทรกมุก “เอาปลาฉลามใส่ชามให้กิน” ด้วย
เพลง “บ้านยายหอม”จากเสียงร้องของ “คำรณ สัมบุณณานนท์” บิดาแห่งวงการเพลงลูกทุ่งไทย เนื้อหาของเพลงเกี่ยวกับความรักของหนุ่มชาวบ้านยายหอม จ.นครปฐม กับสาวสุโขทัย ถึงขั้นเลิกกัญชา ยอมเดินนับหมอนรถไฟไปหาเป็นเวลา 3 เดือน
จากนั้น “ยืนยง โอภากุล” หรือ “แอ๊ด คาราบาว” ก็ได้นำเพลงบ้านยายหอม มารวมอยู่ในอัลบั้ม “รอยคำรณ” ในปี 2537
เพลง “ท่าจะหลวม” จากศิลปิน “บุญโทน พระไม่ทำ” (ปัจจุบันคือ บุญโทน คนหนุ่ม) นักร้องเพลงแปลงชื่อดังในช่วงทศวรรษ 2530 ก็นำเพลงนี้ไปแปลงในแบบสองแง่สองง่าม พรรณาอย่างหวาดเสียวถึงความ “หลวม” ของสิ่งหนึ่ง ถึงขนาดที่ผู้หญิงต้องยกขาช่วย สุดท้ายเฉลยออกมาว่าเป็นเรื่องของ “กางเกง”

“ชาลี อินทรวิจิตร” ศิลปินแห่งชาติ ปี 2536 , “สมาน กาญจนะผลิน” ศิลปินแห่งชาติ ปี 2531
และ ” ชรินทร์ นันทนาคร” ศิลปินแห่งชาติ ปี 2541
อีกหนึ่งความพิเศษที่ทำให้เพลง “ท่าฉลอม” ยังคงเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน คือการที่มีศิลปินคุณภาพหลายท่านนำเพลงนี้ไปร้องใหม่ในสไตล์ของตัวเอง ทำให้เพลงนี้ไม่สูญหายไปตามยุคสมัยของดนตรีที่มีการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งศิลปินแต่ละท่านต่างก็ถ่ายทอดบทเพลงนี้ออกมาได้อย่างไพเราะไม่แพ้ต้นฉบับ ไม่ว่าจะเป็น วินัย พันธุรักษ์, ชรัมภ์ เทพชัย, หยาด นภาลัย (สุริยพงศ์ การวิบูลย์), ยอดรัก สลักใจ, เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์, สุทธิพงษ์ วัฒนจัง (ชมพู ฟรุ๊ตตี้), แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์, เท่ห์ อุเทน พรหมมินทร์, ดำรง วงศ์ทอง, วีระ บำรุงศรี เป็นต้น
โดยเฉพาะในช่วงต้นทศวรรษ 2530 ศิลปินจากสังกัด “นิธิทัศน์ โปรโมชั่น” หลายท่าน ก็ได้นำเพลงนี้ไปร้องใหม่ ได้แก่ ดอน สอนระเบียบ, นิค นิรนาม (คณิต อุทยานสิงห์), กุ้ง กิตติคุณ เชียรสงค์ และ อ๊อด โอภาส ทศพร ซึ่งทางค่ายนิธิทัศน์ฯ เอง ก็ได้เข็นอัลบั้มรวมฮิต “Best of ชรินทร์ นันทนาคร” ซึ่งมีเพลงท่าฉลอม ในเวอร์ชั่นที่เราได้ฟังกันบ่อยในปัจจุบัน
นอกจากนี้ มีการนำไปทำเป็นเพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ โดยศิลปิน Siam Millennium สังกัด เรดบีทมิวสิค รวมทั้งฉบับเพลงแจ๊สจากศิลปิน Mark Hodgkins และฉบับเพลงบรรเลงเปียโนจากศิลปิน ณรงค์ศักดิ์ อิ่มเจริญ สังกัด เมโทรเรคคอร์ดส อีกด้วย

ปัจจุบันเพลง “ท่าฉลอม” ก็ยังมีศิลปินรุ่นใหม่นำเพลงนี้ไปร้องในโอกาสต่าง ๆ เช่น “กัน นภัทร อินทร์ใจเอื้อ” รวมถึงรายการร้องเพลงทางโทรทัศน์ ก็ยังมีคนนำเพลงนี้ไปใช้ในการประกวด อาทิ “The Voice Thailand” ทางช่องพีพีทีวี หรือรายการ “The Golden Song เวทีเพลงเพราะ” ทางช่องวัน
จากเรื่องราวความรักของชายผู้หนึ่งที่ไม่สมหวัง กลายมาเป็นบทเพลงอันทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา รวมถึงทำให้ชื่อ “ท่าฉลอม” ชุมชนเก่าแก่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ได้เป็นที่รู้จักของคนไปทั่วประเทศ
และเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของชาวสมุทรสาคร ที่มีเพลงรักอันไพเราะ ไม่น้อยหน้าเพลงรักจากแห่งหนใด
– กิตติกร นาคทอง –