
นักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร นำเสนอผลงานการลงพื้นที่เก็บข้อมูล “ชุมชนท่าฉลอม” จ.สมุทรสาคร ศึกษาประวัติและการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ทั้งการตั้งถิ่นฐาน กลุ่มตระกูล พหุทางวัฒนธรรม และเศรษฐกิจของชุมชน โดยมี “สมุทรสาครพัฒนาเมือง” ร่วมประสานงาน เล็งจัดทำเป็นเอกสารและวีดิโอ เก็บข้อมูลสัมภาษณ์คนในชุมชนฯ ไว้ไม่ให้สูญหายไป
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 7 เม.ย. 2568 ที่บ้านท่าฉลอม ศูนย์ท่องเที่ยวและกิจกรรมชุมชน ต.ท่าฉลอม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร คณะนักศึกษาสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมด้วยคณาจารย์คณะโบราณคดี ประกอบด้วย ผศ.สิริวรรณ สิรวณิชย์ หัวหน้าสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นฯ ผศ.นุชนภางค์ ชุมดี และ อ.ภูมิ ภูติมหาตมะ ร่วมนำเสนอผลงานจากการลงพื้นที่ชุมชนท่าฉลอม เพื่อศึกษาประวัติและการเปลี่ยนแปลงของชุมชน โดยมี ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานกรรมการบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ดร.กชนิภา อินทสุวรรณ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสาคร ผู้แทนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสาคร กลุ่มอาสาพัฒนาเมืองฯ และชาวชุมชนท่าฉลอม ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยนักศึกษากลุ่มนี้ได้ทำการลงพื้นที่สัมภาษณ์คนในชุมชน และสืบค้นทางเอกสารเกี่ยวกับชุมชนท่าฉลอม มาตั้งแต่ 4 เม.ย. 2568



ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานกรรมการบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ชุมชนท่าฉลอมของนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคสนาม ซึ่งเป็นวิชาที่น้อง ๆ นักศึกษาต้องลงพื้นที่และเก็บข้อมูลจริง ทางสมุทรสาครพัฒนาเมืองฯ จึงได้เชิญมาลงพื้นที่ชุมชนท่าฉลอม เพื่อที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลของชุมชนในเรื่องของการตั้งถิ่นฐาน ชุมชนชาวจีน ตระกูลที่สำคัญของชุมชนท่าฉลอม ศาลเจ้า วัด และเรื่องของการปรับตัวทางเศรษฐกิจของชุมชนในภาพรวมด้วย
ซึ่งน้อง ๆ จะได้จัดทำเป็นรายงาน มีการบันทึกเป็นเอกสาร ซึ่งจะทำให้ชุมชนท่าฉลอมมีข้อมูลตรงนี้เก็บไว้และไม่สูญหายไป เพราะคนในชุมชนอาจจะมีการย้ายถิ่นฐาน หรือไม่ได้อยู่ที่ชุมชนนี้แล้ว คนที่รู้เรื่องราวอาจจะน้อยลงเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีการเก็บข้อมูลตรงนี้ไว้ จะทำให้ข้อมูลที่สำคัญของชุมชนหายไป นอกจากนี้ การไปสัมภาษณ์คนในชุมชนก็เหมือนเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม เพราะทางตนก็ประสานงานให้น้อง ๆ ไปสัมภาษณ์คนในชุมชนที่มีความรู้ในแต่ละด้าน ก็ทำให้เขาได้ถ่ายทอดความรู้ของเขาเอง และเกิดความรู้สึกการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมตรงนี้ด้วย



ดร.สุวันชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องขอขอบคุณทางคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่อนุญาตให้น้อง ๆ นักศึกษามาลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูลของชุมชนท่าฉลอมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป และขอขอบคุณคนในชุมชนท่าฉลอมเองที่ให้เวลากับน้อง ๆ ในการสัมภาษณ์ร่วมกัน ทำให้ข้อมูลตรงนี้คงไว้ไม่สูญหายไปในอนาคต รวมทั้งทีมงานต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยถ่ายรูปภาพและวีดิโอ เพราะว่านอกจากข้อมูลที่เป็นเอกสารแล้ว ก็จะจัดทำเป็นวีดิโอเก็บไว้ด้วย เพราะแต่ละแห่งที่ไปสัมภาษณ์ ถ้าผู้ให้สัมภาษณ์อนุญาต ก็จะถ่ายวีดิโอบทสัมภาษณ์เก็บไว้เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่ง ในการที่จะรักษาข้อมูลของชุมชนต่อไป





ทางด้าน ผศ.สิริวรรณ สิรวณิชย์ หัวหน้าสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า การลงพื้นที่ชุมชนท่าฉลอมในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคสนาม ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวน 30 คน ซึ่งเหตุผลของการเลือกลงพื้นที่ชุมชนท่าฉลอม เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งทางคณะฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับทางบ้านท่าฉลอม อีกประเด็นหนึ่งพื้นที่ตรงนี้มีความน่าสนใจในเรื่องข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คำบอกเล่า ความทรงจำของผู้คนที่ยังไม่มีคนมาเก็บข้อมูลอยู่หลายเรื่อง ดังนั้นเราจึงจัดทำรายการประเด็นสำคัญ โดยการวางแผนกับทางชุมชนฯ ซึ่งมี ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม และทีมงานช่วยกันคิดว่าควรจะมีประเด็นในเรื่องใดบ้าง
โดยมีโจทย์ให้นักศึกษาเข้ามาเก็บข้อมูลใน 5 ประเด็น ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน พัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของชุมชนท่าฉลอม, กลุ่มที่ 2 และ 3 การศึกษาบทบาทกลุ่มตระกูลคนจีน เช่น นิจจะยะ ลือประเสริฐ ระวิวงษ์ ตู้จินดา มณีรัตน์ มีอำพล อุตะเดช สร้อยเพ็ชร หะทัยธรรม เป็นต้น ซึ่งพวกเรามองว่ามีบทบาทที่สำคัญมาก ๆ ตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 และยังคงมีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน,
กลุ่มที่ 4 เรื่องพหุทางวัฒนธรรมในพื้นที่ชุมชนท่าฉลอม ซึ่งมีความหลากหลายทั้งศาสนาสถานต่าง ๆ ที่สะท้องถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม เช่น ศาลเจ้า โบสถ์ วัด หรือประเพณีความเชื่อต่าง ๆ และกลุ่มที่ 5 เรื่องเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเรามองเรื่องการดำรงอยู่และการปรับตัวของชุมชนในแง่ของเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นเก็บข้อมูลกับคนที่ทำอาชีพต่าง ๆ เช่น การทำประมง ปั่นสามล้อ การแปรรูปอาหารทะเล และภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนในชุมชนท่าฉลอม
โดยข้อมูลทั้ง 5 ประเด็นจะเป็นการทำงานลงพื้นที่ของนักศึกษา ตั้งแต่วันที่ 4-8 เม.ย. 2568 ซึ่งการนำเสนอผลงานของนักศึกษาในวันนี้ จึงเป็นการสะท้อนผลงานที่ได้ลงมือปฏิบัติมาตลอดทั้ง 4 วัน ซึ่งข้อมูลบางตอนก็ยังไม่สมบูรณ์ชัดเจนมากนัก อาจต้องไปสอบทานข้อมูลกับเอกสารหลักฐานต่าง ๆ สุดท้ายนี้ ข้อมูลทั้งหมดจะจัดทำเป็นรายงานภาคสนามคืนกลับให้ชุมชนท่าฉลอม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในภายภาคหน้า



สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง