
“ณัฐพงษ์” สส. สมุทรสาคร ร่วมกับ สส.กทม. พรรคประชาชน สำรวจพื้นที่เกิดอุบัติเหตุคานสะพานก่อสร้างทรุดตัว ช่วงด่านดาวคะนอง เผยหลังเหตุการณ์คานถล่ม ถ.พระราม 2 ไม่ถึง 4 เดือนเกิดเหตุซ้ำ ซัด “สุริยะ” ใส่ใจแก้ปัญหาหรือไม่ หลังทราบมาตรการสมุกพกผู้รับเหมายังไม่เริ่มใช้ ชี้ก่อสร้างขนาดใหญ่ต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวด เน้นความปลอดภัย เปิดเผยข้อมูลให้ ปชช. ทราบ
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2568 นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส. สมุทรสาคร เขต 1 เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยเพื่อนสมาชิกฯ พรรคประชาชน ประกอบด้วย นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม.เขต 24 และ น.ส.แอนศิริ วลัยกนก สส.กทม. เขต 25 รวมถึง ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสมาคมฯ ได้ร่วมกันลงสำรวจพื้นที่เกิดเหตุโครงสร้างที่อยู่ระหว่างก่อสร้างสะพานทรุดตัว ช่วงด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษดาวคะนอง ทางพิเศษเฉลิมมหานคร แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพฯ เมื่อเวลาประมาณ 01.30 น. ของวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ตนเองในฐานะ สส. เขตพื้นที่ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์คานถล่มบน ถ.พระราม 2 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2567 ซึ่งผ่านมาไม่ถึง 4 เดือน ก็มาเกิดอุบัติเหตุการก่อสร้างขึ้นอีกแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในยุคของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงต้องตั้งคำถามว่าหลังจากเหตุการณ์ครั้งที่แล้วได้มีมาตรการอะไรเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ทำไมถึงเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก แต่ที่น่าตกใจคือ นายสุริยะได้ยอมรับเองว่ามาตรการสมุดพกผู้รับเหมายังไม่เริ่มใช้ จะเริ่มใช้ได้ในเดือน เม.ย. ซึ่งก็เกิดคำถามว่าปล่อยเวลาผ่านไป ไม่ได้มีการเอาใจใส่แก้ปัญหาหรืออย่างไร แม้ตนจะเห็นว่าการใช้มาตรการสมุดพกผู้รับเหมา เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาความปลอดภัย เพราะจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุแล้วถึงจะตัดคะแนน แล้วหากเป็นช่วงก่อนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง จะมีมาตรการควบคุมเพียงพอแล้วหรือไม่

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อด้วยว่า การก่อสร้างขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีการควบคุมทุกขั้นตอน ทุกขั้นตอนมีความสำคัญและมีผลต่อความปลอดภัย เมื่อเกิดเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ก็ต้องมาดูแล้วว่ามีปัญหาที่โครงสร้างหรือไม่ จึงต้องแก้ที่โครงสร้าง มาตรการควบคุมเรื่องคน เรื่องเครื่องจักรเพียงพอหรือไม่ กฎหมายมีช่องโหว่หรือไม่ กฎหมายควบคุมเครื่องมือ ที่เป็นของใหม่ของประเทศไทยมีแล้วหรือไม่ ปัญหาเรื่องการไปปล่อยให้ซับคอนแทรค (ผู้รับเหมาช่วง) ดำเนินการก่อสร้างมีหรือไม่ แล้วบริษัทซับคอนแทรคที่รับงานมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ ผิดเงื่อนไขสัญญาหรือไม่ และการให้ต้นทุนความปลอดภัยเป็นต้นทุนแฝง ไม่ได้อยู่ในร่างขอบเขตงาน (TOR) แบบนี้เป็นปัญหาหรือไม่ นอกจากนี้ การเก็บหลักฐานหน้างาน ทำถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่ มี Third Party เข้ามาร่วมสังเกตการณ์หรือไม่ เพื่อให้การตรวจสอบสาเหตุที่เกิดขึ้น ถูกต้อง ตรงไปตรงมา เมื่อรู้สาเหตุจะได้ป้องกันแก้ไขได้ถูกต้อง
“การก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นนี้ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบทุกขั้นตอนอย่างเข้มงวด แม้ว่าเข้าใจดีว่าอยากเร่งให้เสร็จทันที่ รมว.คมนาคม ประกาศ แต่ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งก็ควรมีการเปิดเผยข้อมูล ความคืบหน้าให้ประชาชนได้ทราบอยู่เป็นประจำด้วย นอกจากนี้ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคน เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัย อาจจะไม่ใช่แค่ที่ถนนพระราม 2 แต่อาจจะเกิดที่ไหนอีกก็ได้ หากรากเหง้าปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขที่ต้นตอ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าคนหน้างาน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือประชาชนที่ต้องสัญจรผ่านโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะปลอดภัย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาสาเหตุอย่างตรงไปตรงมา สรุปบนเรียนและแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ” นายณัฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง
ประชาสัมพันธ์
