
“เอกนัฏ” รมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่โกดังเก็บพลาสติกรีไซเคิลที่ถูกไฟไหม้ จ.สมุทรสาคร ประสานคดีให้ DSI รับช่วงขุดรากถอนโคนทุนสีเทาขนขยะอันตรายเข้าประเทศ พร้อมหาแนวทางผลักดัน “สมุทรสาครโมเดล”
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในคดีเหตุไฟไหม้โกดังเก็บพลาสติกรีไซเคิล หมู่ 6 ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมี นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร นายพิรุณโรจน์ นาคดนตรี นายอำเภอบ้านแพ้ว ตลอดจนผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ด้วย

สำหรับโกดังเก็บพลาสติกรีไซเคิลดังกล่าว เป็นของบริษัท เถิงต๋า พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด มีนายฟูควน ลัว เป็นผู้เช่าอาคารโกดังต่อจากเจ้าของคนไทย ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลหลักห้า จากการตรวจสอบภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ พบว่าผู้ให้เช่าและผู้เช่ามีการกระทำความผิดต่าง ๆ เช่น มีการก่อสร้างต่อเติมอาคารเพิ่มเติมในบริเวณพื้นที่เดียวกัน เป็นลักษณะโกดังให้เช่าอีก 4 หลัง โดยไม่ได้รับอนุญาต, มีการลักลอบประกอบกิจการเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต และเข้าข่ายประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต,

ลักลอบดำเนินกิจการต้องห้ามดำเนินการในพื้นที่สีเขียว, มีการลักลอบนำเข้าสายไฟเก่าเข้ามาในพื้นที่เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต, มีการแปรรูปและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สมอ. และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ผิดกฎหมายเกือบทั้งหมด นอกจากจะมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ลักลอบประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 12 แล้ว ยังได้มีการตรวจยึดวัตถุดิบประกอบด้วย เศษสายไฟฟ้า และเศษพลาสติกที่บดย่อยแล้วปริมาณกว่า 4,000 ตัน ไว้ ณ ที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

จากนั้นนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะได้เดินทางมาประชุมหารือกันอีกครั้งที่ห้องประชุมพันท้ายนรสิงห์ (401) ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร โดยนายเอกนัฏ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ นอกจากจะมาตรวจสอบจุดที่เกิดเหตุอีกครั้งแล้ว ยังเพื่อต้องการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดและพยานหลักฐานต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด พร้อมกันนี้ก็จะได้หารือร่วมกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อส่งต่อคดีนี้ให้ไปอยู่ในความดูแลของ DSI เพราะถือเป็นคดีสำคัญระดับประเทศ และเชื่อว่ามีผู้ร่วมขบวนการเป็นเครือข่ายใหญ่ ซึ่งก็ต้องดำเนินการให้หมดทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพวกนายทุนจีนสีเทาที่เข้ามายึดพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร และประเทศไทย เพื่อลักลอบนำเข้าวัตถุอันตรายและประกอบกิจการที่ไม่ได้รับอนุญาต ไร้มาตรฐานสินค้าไทย แถมยังนำออกจำหน่ายผู้บริโภค หวังแต่กำไรโดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากความไร้มาตรฐานของสินค้าต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น มูลค่าโดยรวมน่าจะไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

นายเอกนัฏ ยังกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ตนมุ่งหวังว่าหลังจากที่มีการดำเนินคดีในกรณีนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการสอดส่อง ดูแล ป้องกัน และปราบปราม การกระทำความผิดของผู้ที่หวังแต่ผลประโยชน์หากินบนความทุกข์และความเดือดร้อนของประชาชนแล้วนั้น ต่อไปก็จะมีการขับเคลื่อนแนวทางผลักดันให้จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดต้นแบบ หรือ สมุทรสาครโมเดล ในเรื่องของการจัดระเบียบและการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบจากโรงงานเหล่านี้ ให้กลับมามีคุณภาพชีวิต และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่จะร่วมกันอย่างจริงจังในการทำให้บ้านเมืองของตนเองดีขึ้น และกลับมาเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยอีกครั้ง โดยทั้งนี้หากพี่น้องประชาชนหรือท่านใดที่พบเห็นโรงงานอุตสาหกรรมลักลอบกระทำความผิด ก็สามารถแจ้งเบาะแสผ่าน APP “แจ้งอุต” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทุกคนต้องร่วมกันขุดรากถอนโคนสิ่งเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปจากพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และประเทศไทย





ด้านนายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้ฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ช่วยหามาตรการที่จะสามารถสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานบางหน่วยงาน ให้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงการตรวจจับโรงงานหรือกลุ่มผู้ลักลอบการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่มีเพียงแค่เจ้าหน้าที่ของอุตสาหกรรมเท่านั้น และขอให้มีการเร่งรัดจัดการกับของกลางที่ตรวจยึดไว้ เนื่องจากหากปล่อยไว้นานของกลางอาจเกิดการสูญหายบางส่วนได้ หรืออาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นได้อีก นอกจากนี้ในส่วนของการขออนุญาตเปิดโรงงานหรือโกดัง หรือสถานประกอบการที่มีความล่อแหลมต่อการลักลอบกระทำความผิด ก็ควรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาก่อนที่จะออกใบอนุญาต เป็นต้น

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง