
ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ตรวจเยี่ยมกำจัดปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2 หลัง รมว.เกษตรฯ มอบนโยบายให้การยางแห่งประเทศไทย เปิดรับซื้อ 20 บาท รวม 600,000 กก. ทั่วประเทศ นำไปทำน้ำหมักชีวภาพ
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 8 ก.พ. 2568 นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นายธนัชกฤต กลิ่นหวล ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร และคณะ ร่วมตรวจเยี่ยมการรับซื้อปลาหมอคางดำ ที่แพปลานายวิชาญ เหล็กดี ริมคลองพิทยาลงกรณ์ หมู่ 2 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร พร้อมให้กำลังใจชาวประมงพื้นบ้าน จำนวน 33 ลำ ที่เข้าร่วมโครงการกำจัดปลาหมอคางดำกับสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อส่งขายให้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำไปแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ ตามนโยบาย ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มอบหมายให้กรมประมง การยางแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับซื้อปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2 จำนวน 600,000 กก. งบประมาณ 12 ล้านบาท

นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางจังหวัดฯ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำมาโดยตลอด สามารถกำจัดไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,700 ตัน และในครั้งนี้ได้มอบหมายให้ประมงจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวตั้งแต่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้เตรียมความพร้อมตั้งแต่การรับสมัครประมงพื้นบ้าน เรืออวนรุนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 33 ลำ แพรวบรวม 8 แพ เปิดรับเกษตรเจ้าของบ่อที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำเข้าร่วมโครงการเพื่อขึ้นทะเบียนจับปลาหมอคางดำในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร โดยจะดำเนินโครงการไปจนกว่าจะครบจำนวน 600,000 กก. ทั่วประเทศ ซึ่งในการขึ้นปลาวันแรกนี้คาดว่าจะได้ปลาไม่น้อยกว่า 10 ตัน และจะส่งต่อไปยังโรงงานผลิตน้ำหมักชีวภาพ ที่ จ.กาญจนบุรี ต่อไป

ขณะที่ นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร มีความพร้อมในการดำเนินการตามนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมง และจังหวัดสมุทรสาครกำหนด และขอประชาสัมพันธ์การรับสมัครเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำใน จ.สมุทรสาคร ที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ให้รีบมาสมัครเข้าร่วมโครงการกำจัดปลาหมอคางดำ กับสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร โดยอำนวยความสะดวกเปิดทำการในทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือจะไปติดต่อที่สำนักงานประมงอำเภอทั้ง 3 อำเภอ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่อำนวยความสะดวกให้กับแพรวบรวม เจ้าของบ่อ และพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยกันกำจัดปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสาครให้ได้มากที่สุด ซึ่งในโครงการระยะที่ 2 นี้ การยางแห่งประเทศไทย ยังคงรับซื้ออยู่ที่ กก. ละ 20 บาท โดยแบ่งให้ชาวประมงที่จับปลา 15 บาท และให้กับแพปลาที่รับซื้อ 5 บาท

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ