
“อนุทิน” ลงนามประกาศกระทรวงมหาดไทย จัดตั้ง อบต.พันท้ายนรสิงห์ เป็น “เทศบาลเมืองพันท้ายนรสิงห์” มีผลตั้งแต่ 3 ก.พ. 2568 โดยให้พ้นสภาพเป็น อบต. ส่วนนายกฯ พร้อมสมาชิกสภาฯ พ้นจากตำแหน่งด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2568 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเทศบาลเมืองพันท้ายนรสิงห์ ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศ ณ วันที่ 2 ม.ค. 2568 มีเนื้อหาดังนี้
โดยที่องค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เห็นว่ามีราษฎรตั้งแต่หนึ่งหมื่นคนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 และได้สำรวจเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นแล้ว มีความประสงค์จะจัดตั้งเป็นเทศบาลเมือง เพื่อประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยพิจารณาข้อมูลดังกล่าวแล้วเห็นว่า องค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ เข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว สมควรให้จัดตั้งเป็นเทศบาลเมือง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 ประกอบมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงประกาศจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ เป็นเทศบาลเมืองพันท้ายนรสิงห์
องค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลเมืองตามประกาศนี้ มีแนวเขตตามคำบรรยายแนวเขตและแผนที่ท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย และให้พ้นสภาพแห่งการเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่ได้มีประกาศนี้จัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาลเมืองเป็นต้นไป บรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิสิทธิเรียกร้อง หนี้ พนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบล ให้โอนไปเป็นของเทศบาลเมืองที่จัดตั้งขึ้น และบรรดาข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้ใช้บังคับในเรื่องได้ก่อนอยู่แล้ว ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้มีการตราเทศบัญญัติในเรื่องนั้นขึ้นใหม่ ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2546
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2568

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับประวัติขององค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ (อบต.พันท้ายนรสิงห์) เดิมคือตำบลบ้านขอม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลบ้านไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2483 ตาม พ.ร.ฎ.เปลี่ยนนามอำเภอและตำบลบางแห่ง พ.ศ. 2483 สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลพันท้ายนรสิงห์ เมื่อปี พ.ศ. 2504 ตาม พ.ร.ฎ.เปลี่ยนชื่ออำเภอและตำบลบางแห่ง พ.ศ. 2504 สมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพท้องที่ในปัจจุบัน และเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องที่
จากนั้นได้รับการยกระดับจากสภาตำบลพันท้ายนรสิงห์ เป็น องค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ตามมาตรา 40 และ มาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 113 ตอนที่ 9ง วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2539
องค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ มีเนื้อที่ประมาณ 43,069.884 ไร่ หรือประมาณ 69.74 ตร.กม. พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งมีน้ำทะเลท่วมถึง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1.00 – 2.00 ม. และมีคู คลอง ป่าจาก แบ่งการปกครองออกเป็น 8 หมู่บ้าน จำนวนประชากร 42,981 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 19,863 คน ประชากรหญิง 23,118 คน (ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เมื่อเดือนมกราคม 2568) ปัจจุบันมีนายนิรุจน์ แก้วนิล เป็นนายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ และนางบังอร กุลนิล เป็นประธานสภา อบต.พันท้ายนรสิงห์
สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง