“สุรเชษฐ์” นำ กมธ.ติดตามงบฯ ลงพื้นที่สมุทรสาคร จี้หาสาเหตุเครนถล่มยกระดับพระราม 2

“สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ” นำคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ติดตามการบริหารงบประมาณ ความคืบหน้าก่อสร้างบนถนนพระราม 2 และสาเหตุคานปูนและเครนถล่ม คาดได้รายงานช่วงสิ้นเดือน ก.พ. 68

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2568 คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการ น.ส.รักชนก ศรีนอก โฆษกคณะกรรมาธิการฯ นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ รวมถึงที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการฯ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารงบประมาณ แผนการดำเนินงาน และความคืบหน้าในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพื้นที่ถนนพระราม 2 ที่จังหวัดสมุทรสาคร 

เริ่มต้นเมื่อเวลา 09.00 น. นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ ได้ประชุมพบปะสนทนา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการฯ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมพันท้ายนรสิงห์ โดยมี นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ สส. สมุทรสาคร ทั้ง 3 เขต ผู้แทนกรมทางหลวง กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ นายกสภาวิศวกร นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมวิศกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยในที่ประชุมได้นำเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพื้นที่ถนนพระราม 2 ทั้งที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ โครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย สัญญาก่อสร้างเริ่ม ก.พ. 2562 – มี.ค. 2564 ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ, โครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย (3 สัญญา) สัญญาก่อสร้างเริ่ม ส.ค. 2562 – มี.ค. 2568 ปัจจุบันคืบหน้ากว่า 98% คาดว่าจะแล้วเสร็จ มี.ค. 2568, โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว (10 สัญญา) สัญญาก่อสร้างเริ่ม ก.พ. 2565 – ธ.ค. 2568 ปัจจุบันคืบหน้ากว่า 78% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ธ.ค. 2568 และ โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร (1 สัญญา) สัญญาก่อสร้างเริ่ม ส.ค. 2564 – มิ.ย. 2568 ปัจจุบันคืบหน้ากว่า 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จ มี.ค. 2568

รวมถึงลำดับเหตุการณ์ (Timeline) และสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุคานปูนและเครนที่ใช้ในการก่อสร้างทางยกระดับ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว ช่วง เอกชัย – บ้านแพ้ว ถล่ม เมื่อ 29 พ.ย. 2567 ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน โดยกรมทางหลวงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งปัจจุบันขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่แล้วเสร็จ ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2568 ได้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงครั้งที่ 1/2568 มีความเห็นให้เบิกวัตถุพยานและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในที่เกิดเหตุเพื่อนำมาทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพ และสร้างแบบจำลองสภาวะการเกิดอุบัติเหตุและนำผลมาประกอบการพิจารณาต่อไป

โดยมีข้อสันนิษฐานเบื้องต้น ได้แก่ 1. Unsafe Condition หรือความไม่ปลอดภัยจากที่มากับตัว LG (Launching Gantry – โครงสร้างเหล็ก) เอง เช่น กำลังของ LG ไม่เพียงพอ หรือ LG ไม่มีเสถียรภาพ และ 2. Unsafe Action หรือความไม่ปลอดภัยที่มาจากการดำเนินงานหรือการใช้งาน LG เช่น การให้น้ำหนักบรรทุกมากเกินไป การใช้งานผิดประเภท/ประมาท การขาดการบำรุงรักษา หรือการติดตั้งผิดแบบ ทั้งนี้ ได้ขอความอนุเคราะห์จาก สภ.เมืองสมุทรสาคร ส่งมอบวัตถุพยานเพื่อนำมาทดสอบ และขอเชิญพยานบุคคลผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัย ในวันที่ 3 ก.พ. 2568 คาดว่าจะได้รายงานสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุภายในวันที่ 28 ก.พ. 2568 ต่อไป

จากนั้นเวลา 13.00 น. คณะกรรมาธิการฯ ศึกษาดูงานและรับฟังบรรยายสรุปปัญหาโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษของกรมทางหลวงหมายเลข 82 สายทางยกระดับ บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 1 ช่วง กม.21+600 พื้นที่หมู่ 2 ต.คอกกระบือ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร จุดเกิดเหตุคานปูน (Segment) และเครน (Launching Gantry Crane) ถล่ม

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เรื่องติดตามการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 และเหตุการณ์คานปูนและเครนถล่ม ทาง สส. ของพรรคประชาชน ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ทั้ง 3 เขต ได้มาสอบถาม เพราะถนนเส้นนี้เป็นประตูสำคัญสู่ภาคใต้ รวมถึง สส. กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยง ก็มาสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับถนนพระราม 2 ทำไมจึงยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ก็เลยอยู่ในวาระของคณะกรรมาธิการฯ เพราะเป็นผู้ติดตามงบประมาณของโครงการขนาดใหญ่ หรือเป็นโครงการที่ประชาชนสนใจมาก

และอย่างคำถามเร่งด่วนนี้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวงการวิศวกรรมโยธา อุบัติเหตุใหญ่เกิดความสูญเสียอย่างนี้ไม่ควรจะเกิด เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของวงการวิศวกรรมโยธา ถ้าคณะกรรมาธิการฯ ปล่อยผ่านเรื่องนี้โดยไม่มาติดตามหรือสนใจ ก็จะเห็นเหมือนกับอุบัติเหตุใหญ่หลาย ๆ ครั้ง พอคนลืมมันก็จะจบ ๆ ไป ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ ก็พยายามจะเข้ามาติดตาม เพื่อดูว่าสิ่งที่หน่วยงานกำลังทำอยู่ ที่จะสอบสวนอุบัติเหตุนี้จะลงลึกได้แค่ไหน มีผล ออกมาเป็นรูปธรรม บอกได้แน่นอนว่ามันเกิดอะไร สำคัญกว่านั้นคือจะป้องกันปัญหาอย่างไรในอนาคต นั่นคือวาระหลัก แล้วเราก็รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ รับฟังความเห็นจากรอบด้านจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานวิชาชีพที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีคานปูนและเครนถล่ม และผู้มีองค์ความรู้ นักวิชาการอิสระต่าง ๆ ก็ให้ความเห็นในมุมมองของเขา อย่างน้อยต้องการให้เปิดข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง

ส่วนการวิเคราะห์แต่ละคนก็จะมีแนวทางความคิดได้หลากหลายแบบ อย่างน้อยหน่วยงานราชการก็ต้องวิเคราะห์ไปเพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่สุดท้ายไม่มีใครผิด ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นต่าง ๆ ตนไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พยายามจะให้คำตอบที่เป็นรูปธรรม มีรายงานออกมาได้ในวันที่ 28 ก.พ. 2568 ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง รมว.คมนาคม บอกว่าจะทราบคำตอบภายใน 1 เดือน แต่ก็มีการเลื่อนเวลาออกไป ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะได้ติดตามเรื่องนี้ต่อไปในการประชุมสภาฯ

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

ประชาสัมพันธ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *