
“ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม” สส.สมุทรสาคร-โฆษก กมธ.วิสามัญแก้ไขร่าง พ.ร.ก.การประมง ปี 58 ยินดีหลังสภาผ่านโหวต เผยแก้ไขรวม 36 มาตรา เน้นแก้เรื่องโทษรุนแรงเหมือนประหารชีวิตชาวประมง ส่วนประมงชายฝั่งออกเรือได้ไกลกว่า 3 ไมล์ทะเล แต่ยังให้สมดุลกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ชี้แก้กฎหมายช่วยทำให้อาชีพประมงไม่สูญสลาย ช่วยเศรษฐกิจสมุทรสาครกระเตื้อง
จากกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ….” หรือ “ร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่” เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2567 โดยมีการผ่านวาระ 2 พิจารณารายมาตรา และผ่านวาระ 3 เห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 366 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง ซึ่งกระบวนการถัดไป คือการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ต้องตั้งกรรมาธิการเข้าสู่การพิจารณาภายใน 30 วัน เนื่องจากเป็นกฎหมายการเงินนั้น
นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส. สมุทรสาคร เขต 1 พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว เปิดเผยภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ผ่านวาระ 3 ด้วยคะแนนเสียงอย่างท้วมท้น ว่า ตนต้องขอเท้าความประเด็นปัญหาดังกล่าว ที่จริงเรื่องนี้เกิดขึ้นมาประมาณเกือบ 10 ปีแล้ว ชาวประมงได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด จากการที่มีการออกกฎหมาย พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 โดยรัฐบาลยุค คสช. ให้เหตุผลว่าต้องการจะแก้ไขปัญหาการประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) จึงได้มีการออกกฎหมายอย่างรีบเร่งและขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา ทำให้พี่น้องชาวประมงได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
กลายเป็นว่าชาวประมงหลายคนล้มละลาย ทำอาชีพต่อไม่ได้ เพราะโทษรุนแรงและไม่ได้มีการปรับตัว สิ่งที่เกิดขึ้นก็เลยสร้างความเสียหายมหาศาล โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเอง ที่เมื่อก่อนได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของการประมง และสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้กับจังหวัดเรามหาศาล ก็ทำให้ได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจดร็อปลง และก็มีผลกระทบตามมาเต็มไปหมด ก็เลยเป็นที่มาที่ทำให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมาย
อย่างของทางฝั่งพรรคประชาชน ตั้งแต่สมัยเป็นอดีตพรรคอนาคตใหม่ จากการไปลงพื้นที่ก็ได้มีการรับฟัง และพี่น้องชาวประมงก็สะท้อนให้ฟังว่าอยากให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ จนมาเป็นอดีตพรรคก้าวไกล ก็ได้มีการเสนอกฎหมายเข้าไปในสภาฯ ชุดที่ 25 ตอนนั้นได้ผ่านวาระที่ 1 รับหลักการเรียบร้อยแล้ว แต่พอเป็นช่วงปลายสมัยประชุมสภา ซึ่งกฎหมายเข้าไปอยู่ในชั้นกรรมาธิการ และพิจารณาเป็นที่เรียบร้อย กลายเป็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศยุบสภา ก็เลยทำให้กฎหมายค้างอยู่แบบนั้น
ทีนี้พอหลังเลือกตั้งเสร็จ ซึ่งพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็หาเสียงเลือกตั้งว่าจะแก้กฎหมายฉบับนี้ ตามหลักแล้วหลังจากจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย ก็ต้องยืนยันกฎหมายให้พิจารณาต่อภายใน 60 วัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือพอจัดตั้งรัฐบาลช้า เลยทำให้การยืนยันกฎหมายไม่ทันก็เลยตกไป หลังจากนั้นก็มาพิจารณาใหม่ ในสมัยประชุมสภาครั้งนี้ ก็เลยมีการรับวาระที่ 1 ใหม่ และมีการเข้าไปสู่ในชั้นกรรมาธิการ ตนในฐานะผู้แทนของชาวสมุทรสาครพื้นที่จังหวัดติดทะเล ก็ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการ และได้เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ ในการเข้าไปพิจารณากฎหมายฉบับนี้

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเนื้อหาสาระในการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ฉบับนี้ มีการแก้ไขกฎหมายทั้งหมดประมาณ 36 มาตรา หลัก ๆ ไปแก้เรื่องบทนิยาม เรื่องโทษ และรายละเอียดต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องโทษที่เป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเมื่อก่อนอัตราโทษรุนแรงมาก ยกตัวอย่างเช่น เรือประมงผิดหนึ่งลำ แต่ถ้าเกิดมีเจ้าของเดียวกัน 10 ลำ ลำที่เหลือแม้จะไม่ได้ทำผิด แต่มีเจ้าของเดียวกัน ก็โดนห้ามทำการประมงหมด ถือว่าเป็นโทษประหารชีวิตของชาวประมงที่รุนแรงและทำให้ได้รับผลกระทบมาก รวมถึงค่าปรับในการทำผิดกฎหมายบางทีถึง 30 ล้านบาท ซึ่งสูงมาก ทำให้หลายคนล้มละลาย ไม่มีเงินจ่าย เป็นหนี้สินก็เยอะ
หลายครั้งความผิดก็ไม่ได้เป็นความตั้งใจ อาจจะมีเหตุผลต่าง ๆ นานา แต่กลายเป็นว่าโทษมันรุนแรงมาก จนพี่น้องชาวประมงทำอาชีพได้ยาก แต่แน่นอนว่าพวกตนตระหนักดีว่าการทำประมงต้องมากับการรับผิดชอบในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เพราะต้องยอมรับว่าถ้าเกิดว่าทรัพยากรธรรมชาติไม่มีแล้ว ก็จะส่งผลต่อให้รุ่นลูกหลานก็จะไม่สามารถทำประมงต่อได้ เป็นเรื่องของทรัพยากรของประเทศด้วย นี่เลยเป็นที่มาที่ทำให้เราก็ต้องมองในเรื่องของการประกอบอาชีพ แต่ก็ต้องมีสมดุลในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติด้วย ก็เลยเป็นที่มาในการแก้กฎหมายฉบับนี้
และเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ที่ผ่านชั้นกรรมาธิการแล้ว เข้าสู่วาระการพิจารณาวาระที่ 2 คือการพิจารณารายมาตรา ซึ่งที่ประชุมสภามีการพิจารณาไปทีละมาตรา ทั้งหมดแก้ไข 36 มาตรา ก็โหวตทีละมาตราเลย ดูว่าจะแก้ไขอย่างไร เห็นด้วยกับเสียงข้างมากหรือไม่ หรือจะเอาตามร่างวาระที่ 1 เลย สุดท้ายก็มีการลงมติมาเรื่อย ๆ และวาระที่ 3 เป็นการลงมติทั้งฉบับว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือองค์ประชุมทั้งหมด 368 เสียง 366 เสียงเห็นชอบรับวาระ และอีก 2 เสียงที่ไม่ได้ลงคะแนน แต่ไม่มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยและงดออกเสียง นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายประมง ส่วนขั้นตอนต่อไปก็จะมีส่งเข้าสู่วุฒิสภาในการพิจารณาต่อไป

เมื่อถามว่าหากการแก้ไขกฎหมายประมงฉบับนี้สำเร็จ ประชาชนจะได้อะไรจากตรงนี้บ้าง นายณัฐพงษ์ ตอบว่า ถ้าเป็นเรื่องภาพใหญ่ก็ทำให้อาชีพประมงไม่ได้สูญสลาย และคืนความเป็นธรรมให้กับพี่น้องชาวประมง สิ่งที่เกิดขึ้นคือพี่น้องประชาชนจะมีอาหารทะเลจากพี่น้องชาวประมง เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ธุรกิจต่อเนื่องก็จะได้ประโยชน์จากการที่มีสินค้าประมง พี่น้องชาวประมงมีอาชีพต่อไป มากไปกว่านั้นมีการคุ้มครองกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในการประกอบอาชีพ สามารถที่จะทำประมงไปได้ไกลกว่า 3 ไมล์ทะเล เมื่อก่อนถูกจำกัดไว้แค่นั้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นโอกาส รวมถึงต้องมีสมดุลในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและทำอาชีพประมง ตนเชื่อว่าหลังจากนี้ แม้การแก้กฎหมายประมงฉบับนี้อาจจะไม่เพอร์เฟกต์ แต่ก็ทำให้พี่น้องชาวประมงได้หายใจหายคอได้
และอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าจังหวัดสมุทรสาครเป็นเมืองหลวงของการประมง อาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจพอจะกระเตื้องกลับมาได้ หลังจากนี้จะต้องมีการเสนอและเรียกร้องในการเตรียมความพร้อม เพราะเมื่อประมงพอจะดีขึ้นแล้ว ธุรกิจต่อเนื่องหรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจภายในจังหวัดอาจจะต้องเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการประมง ไม่ว่าจะเรื่องแพปลา ตลาดปลา หรือการส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่องต่าง ๆ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ตนอยากจะผลักดันต่อไปในอนาคต
สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง