‘กรมสุขภาพจิต’ รุกเข้าหาชุมชน วางรากฐานสุขภาพจิตดีทุกกลุ่มวัย

กรมสุขภาพจิต นำกลไก อสม. เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชุมชน จัดการปัญหาสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่ประเมิน คัดกรอง ดูแลช่วยเหลือ และส่งต่อรักษา รพ.เฉพาะทาง นำร่องตำบลใน 878 อำเภอทั่วประเทศ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งดำเนินการสำรวจต่อเนื่องทุก 5 ปี ในกลุ่มประชากร อายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่า คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวช ประมาณ 7 ล้านคน เช่น เป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ปัญหาจากการใช้สุราและสารเสพติด ปัญหาการฆ่าตัวตาย อาการทางจิตหลงผิด เป็นต้น

กรมสุขภาพจิต จึงได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตในเชิงรุก ด้วยการอาศัยตำบลจัดการสุขภาพ ซึ่งมีอยู่กว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ใช้กลไกของ อสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะมาช่วยกันวางระบบดูแลสุขภาพจิตชุมชนร่วมกัน

ตั้งแต่การตรวจเยี่ยม ประเมิน คัดกรอง และวินิจฉัย ว่ามีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ ถ้ามีจะให้การช่วยเหลืออย่างไร และถ้าเป็นมากสามารถส่งรักษา ใน รพ.เฉพาะทางได้ ที่สำคัญมีการติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษา เมื่อกลับเข้าสู่ชุมชน ไม่เกิดตราบาป มีที่ยืนในสังคม และใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า

นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต (Mental Health Literacy) ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนยังไม่เข้าใจคำว่า สุขภาพจิต โรคทางจิต หรือ โรคจิตเวช มากนัก ว่าแท้จริงแล้วไม่ต่างกับการเจ็บป่วยทางกาย ที่ต้องได้รับการรักษา ไม่ใช่ตราบาป หรือเป็นเรื่องที่น่าละอายแต่อย่างใด

และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. นับเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญของระบบสุขภาพที่ใกล้ชิดประชาชน เป็นกำลังสำคัญที่จะไปดูแลสุขภาพในทุกครัวเรือน และเป็นจิตอาสาที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก ที่จะช่วยสื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจไปยังประชาชนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

กรมสุขภาพจิต จึงได้พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชุมชนขึ้น ด้วยการติดอาวุธความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต อาทิ ให้รู้ว่าโรคทางจิตเป็นอย่างไร จะสามารถวิเคราะห์ ประเมิน หรือคัดกรองได้อย่างไร ตลอดจนจะให้การดูแลช่วยเหลือ นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้อย่างไร

ทั้งนี้ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว อสม. ทุกคนจะได้เข้าไปเยี่ยมบ้าน ซึ่งจะทำให้เรามั่นใจได้ว่า คนในชุมชนตั้งแต่ปฐมวัย วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุ จะได้รับการประเมิน คัดกรอง ดูแลช่วยเหลือ และส่งต่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยในปีนี้ได้ดำเนินการในตำบลนำร่อง 878 อำเภอทั่วประเทศ และตั้งเป้าหมายให้มี อสม.เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชุมชนให้ครบทุกตำบลภายในปีหน้า เพื่อให้ประชาชนคนไทย เป็น “Smart Citizen” ที่มีคุณภาพ สมบูรณ์ทั้งกายและใจ มีสติปัญญาที่ดี อารมณ์ดี และมีความสุข อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี

“การจะทำให้งานสุขภาพจิตชุมชน สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี หัวใจสำคัญอยู่ที่ประชาชน ที่ต้องร่วมกันวิเคราะห์ถึงปัญหาสุขภาพจิต นำมาสู่การแก้ไขและใช้มาตรการด้านสุขภาพจิตในการป้องกันและรักษา ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจทางด้านสุขภาพจิต รู้ว่าเมื่อไรเรียกว่าสุขภาพจิตไม่ดี แล้วควรทำอย่างไร รักษาได้หรือไม่และที่ไหน เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประชาชนสามารถจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองและคนรอบข้างได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

สาครออนไลน์ โดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *