ตำรวจสมุทรสาคร บูรณาการร่วมภาครัฐ และองค์กรเอกชนด้านแรงงาน เข้าช่วยแรงงานเมียนมา 118 คน ถูกหลอกให้เดินทางมาทำงานในไทย พบได้ทำงานจริงแค่ครึ่งเดียว ที่เหลือเช่าห้องอยู่ร่วมกันออกไปไหนไม่ได้ ด้านสื่อเมียนมาเผยนายหน้ามีการเรียกเงิน 5-7 แสนจ๊าดเข้ามาขายแรงงานในไทย
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 ก.ค. 2560 2560 พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไทยประเสริฐ รอง ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร พร้อมเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงงาน หรือ LPN และเครือข่าย ได้ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร สภ.บางโทรัด ตม.จว.สมุทรสาคร กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.)
จัดหางานจังหวัดฯ แรงงานจังหวัดฯ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฯ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าให้การช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 118 คน ภายในห้องเช่าแห่งหนึ่งในพื้นที่หมู่ 7 ต.บางโทรัด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร
ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังทำการคัดแยก ระหว่างกลุ่มคนที่มีงานทำ กับไม่มีงานทำ อยู่ภายในลานวัดแห่งหนึ่งบริเวณใกล้เคียงนั้น ปรากฏว่ามีคนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างรายหนึ่ง นำพาสปอร์ตจำนวน 112 เล่ม มาให้กับแรงงานเมียนมาชาย ที่ถูกควบคุมตัวไว้ตั้งแต่แรก เพราะเป็นผู้ดูแลแรงงานต่างด้าวทั้ง 118 คน จึงเข้าข่ายอยู่ในกระบวนการหลอกลวงแรงงานต่างด้าวมาทำงานในไทย โดยคนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างอ้างว่า มีคนขับรถยนต์เข้ามาที่คิวรถหน้าวัด แล้วว่าจ้างให้เอาเอกสารทั้งหมดส่งมอบให้กับแรงงานต่างด้าวคนดังกล่าวเท่านั้น
สำหรับการเข้าช่วยเหลือดังกล่าว นายโคโคนาย จากคณะกรรมการสมานฉันท์ส่งเสริมคุ้มครองแรงงานข้ามชาติชาวพม่า (AAC-SCPM) ซึ่งเป็นจิตอาสาร่วมกับเครือข่ายของมูลนิธิ LPN ได้บอกว่า สืบเนื่องจากมีนายหน้าในประเทศเมียนมา ได้ทยอยพากลุ่มแรงงานมาจากประเทศต้นทางตั้งแต่เมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่แล้ว โดยมีการประสานกับนายหน้าในประเทศไทยว่าจะพาแรงงานทั้ง 118 คนนี้ เข้ามาตามระบบ MOU แลมีนายจ้างรอรับเข้าทำงานในประเทศไทยอยู่แล้ว
ซึ่งแรงงานทั้งหมดได้มีการทำพาสปอร์ตอย่างถูกต้อง และเดินทางเข้ามาทางด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่มีการประทับตาม (วีซ่า) เพราะผ่านด่านด้วยวิธีการเข้ามาซื้อสินค้า แล้วมาขึ้นรถที่มีคนรอรับเพื่อเข้ามาทำงานในไทย แต่เมื่อมาถึงเมืองไทย ปรากฏว่ามีแรงงานที่เดินทางมาเป็นกลุ่มแรก 58 คน เท่านั้นที่ได้ทำงาน ส่วนที่เหลืออีก 60 คน ยังไม่มีงานทำ และผู้ที่พามาก็บอกให้มาเช่าห้องอยู่รวมกัน ห้ามไม่ให้ออกไปไหน ถ้าออกไปจะถูกจับกุมได้ อีกทั้งได้ยึดพาสปอร์ตไปด้วย มีเพียงกระดาษถ่ายเอกสารให้ทุกคนถือไว้เท่านั้น
โดยแรงงานทุกคนนั้นต้องรองานมานานหลายเดือน เมื่อเห็นว่าอาจจะไม่ได้งานทำ และต้องเสียเงินทั้งค่ากิน ค่าที่พัก อีกทั้งทางบ้านที่ประเทศต้นทางจะต้องชำระหนี้สินจากการกู้เงินจำนวน 15,000-20,000 บาท เพื่อจ่ายนายหน้าทำพาสปอร์ตเข้ามาทำงานในประเทศไทย จึงได้มีการส่งข่าวแจ้งไปยังทางบ้านในประเทศเมียนมาเพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งก็ได้มีการประสานมาที่มูลนิธิ LPN รวมถึงมีแรงงานต่างด้าว 5 คน หนีออกจากห้องเช่ามาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิด้วยเช่นกัน จึงได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าให้การช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวทั้ง 118 คนออกมา
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการคัดแยกแรงงานทั้ง 118 คนก่อน โดยแรงงานที่มีงานทำแล้วนั้น จะให้นายจ้างนำไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในช่วงของการผ่อนผัน พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฉบับใหม่ ส่วนที่เหลืออีก 60 คน ซึ่งมีพาสปอร์ตถูกต้องแต่ไม่มีงานทำ จะนำไปที่ศูนย์บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้ทีมสหวิชาชีพเข้ามาสอบสวนและตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดว่าถูกต้องหรือไม่ และจะมีการประชุมหารือกันอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรกับแรงงานที่เหลืออยู่ เพราะแรงงานเหล่านั้นไม่อยากที่จะต้องเดินทางกลับไปประเทศต้นทางอีก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่ถ้าจะเข้ามาทำงานใหม่ก็ต้องเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือตาม MOU เท่านั้น
ในส่วนของกระบวนการนำเข้าและหลอกลวงแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ก็จะต้องทำการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและต้องตรวจสอบด้วยว่า มีคนไทยร่วมอยู่ด้วยหรือไม่
ขณะที่เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2560 หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของเมียนมา “เดอะ โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์” รายงานข่าวการเข้าช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาในครั้งนี้ด้วย
โดยระบุว่า แรงงานกว่าร้อยคนได้รับการช่วยเหลือ หลังจากทางการไทยได้ปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ โดยสมาชิกขององค์กรด้านสิทธิแรงงานอย่าง ACC และ LPN ได้รับแจ้งว่ามีขบวนการค้ามนุษย์เมื่อวันอังคาร (18 ก.ค.) จากเหยื่อ 5 คนซึ่งหลบหนีมาได้
จึงได้ประสานกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าตรวจสอบที่บ้านแห่งหนึ่งย่านมหาชัย พบว่ามีแรงงานต่างด้าวเป็นชาย 81 คน หญิง 38 คน รวมทั้งหมด 119 คน ซึ่งมีหนังสือเดินทางถูกต้องแต่ถูกนายหน้ายึดไป และถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้านที่ถูกล็อกไว้ ห้ามติดต่อกับโลกภายนอก
โดยจะมีการเรียกรับเงินตั้งแต่ 500,000-700,000 จ๊าด (ประมาณ 12,350 – 17,290 บาท) ต่อคน หากมาถึงแล้วจะมีการเรียกเพิ่มอีก 9,000 บาท (ประมาณ 364,000 จ๊าด) ซึ่งแรงงานเหล่านี้มาอยู่ในประเทศไทยได้ 2 เดือนแล้ว และยังไม่ได้รับเข้าทำงานใดๆ
นอกจากนี้ แหล่งข่าวระบุว่า ทางตำรวจแจ้งว่าจะช่วยนำพาสปอร์ตที่ถูกยึดไว้คืนมาให้ ซึ่งทางการไทยกำลังดำเนินการสอบสวน โดยจะไม่มีการจับกุมแรงงานเหล่านี้ ส่วนนายหน้านั้น ทางแรงงานเมียนมาบอกว่ามี 2 คน เป็นชาวเมียนมาที่กำลังถูกควบคุมตัวอยู่หนึ่งคน และคนไทยอีกหนึ่งคนที่กำลังตามตัวอยู่ โดยทั้งสองจะถูกตั้งข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์
สาครออนไลน์ โดย กองบรรณาธิการ