นิสิต MBA ศศินทร์ ทัศนศึกษาชุมชนท่าฉลอม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน

“สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ” นำนิสิต MBA ลงพื้นที่ทัศนศึกษาชุมชนท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร ในวิชา Brand Management ระดมความคิดแบรนด์ชุมชนท่าฉลอม สร้างมูลค่าทางการตลาดโดยใช้อัตลักษณ์-จุดเด่นของพื้นที่

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2567 นิสิตหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin School of Management) ลงพื้นที่ทัศนศึกษาชุมชนท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อศึกษาเรียนรู้ในหัวข้อ “Sustainable place branding from the bottom-up session” (การสร้างแบรนด์ด้วยสถานที่อย่างยั่งยืนจากฐานสู่ยอด) ภายใต้วิชา Brand Management (การจัดการแบรนด์) โดยมี ผศ.ดร.ยุพิน ภัทรพงศ์สันต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ นำนิสิตหลักสูตร MBA ร่วมสำรวจและออกแบบการสร้างอัตลักษณ์พื้นที่ท่องเที่ยวชุมชน

สำหรับการทัศนศึกษา เริ่มจากการรับฟังบรรยายสรุปประวัติความเป็นมาของชุมชนท่าฉลอม โดย ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานกรรมการบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ณ บ้านท่าฉลอม ศูนย์ท่องเที่ยวและกิจกรรมชุมชน จากนั้นเป็นการนั่งรถรางชมเมืองเก่าท่าฉลอมไปตามถนนถวาย ซึ่งมีทั้งร้านขายอาหารทะเลแห้ง และสตรีทอาร์ต แวะชมสถานที่สำคัญ เช่น ศาลเจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ย (เจ้าแม่ทับทิม) โรงเจเช็งเฮียงตั๊ว ศาลเจ้าปุนเถ้ากง (ศาลเจ้ากลาง) วัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) และสถานีรถไฟบ้านแหลม เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลเรื่องของวัฒนธรรม อาหาร และศิลปะจากสถานที่จริง

ก่อนที่จะแบ่งกลุ่มร่วมอภิปรายในเรื่องการสร้างแบรนด์ชุมชนท่าฉลอม เพื่อสร้างมูลค่าการตลาด โดยใช้อัตลักษณ์และจุดเด่นของพื้นที่ มีการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมือง ซึ่งได้ร่วมมือกับบ้านท่าฉลอม ภายใต้ สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) รวมถึงเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) พร้อมนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์และทีมงานของบ้านท่าฉลอม ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของการทัศนศึกษาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและสะท้อนการยกระดับมูลค่าสินค้าและบริการในพื้นที่ โดยนิสิตหลักสูตร MBA ของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ ได้ลงพื้นที่จริง และนำเสนอแลกเปลี่ยนกับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อให้แผนงานต่าง ๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่องได้ต่อไป

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *