สีกากีป.ป.ส.’แท้-เทียม’อาละวาดหนัก
ในช่วงนี้มักจะมีเหตุการณ์ฉาวที่เกี่ยวข้องกับวงการสีกากีเป็นจำนวนมาก ทั้งกรณีที่ตำรวจในเครื่องแบบบังคับให้เจ้าของร้านซื้อเครื่องดับเพลิง ตำรวจนอกเครื่องแบบบุกค้นร้านขายของชำ และกรณีล่าสุดกับการที่กลุ่มชายฉกรรจ์ อ้างตัวว่าเป็นตำรวจ ป.ป.ส. ทำการกรรโชกทรัพย์ ชาวบ้าน ถือเป็นการคุกคามประชาชน ตรงกันข้ามกับคำว่า “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” โดยสิ้นเชิง
เริ่มจากเมื่อต้นเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมา มีชาย 5 คน แต่งกายลักษณะตำรวจในเครื่องแบบ ใช้รถยนต์โตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ สีดำ เข้ามาที่ร้านจำหน่ายอะไหล่แต่งรถยนต์แห่งหนึ่ง บนถนนเศรษฐกิจ 1 ต.นาดี อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยมีบุคคลที่อ้างว่าเป็นลูกน้องนายตำรวจดังกล่าว เขามาติดต่อเพื่อจำหน่ายถังดับเพลิงในราคา 2,800 บาท แต่เมื่อเห็นว่าเจ้าของร้านไม่อยู่จึงออกจากร้านไป
พนักงานในร้านดังกล่าวได้ร้องเรียนมาทาง “สาครออนไลน์” จึงประสานไปยัง พ.ต.อ.จำแรง สุดใจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาคร ได้คำตอบว่าไม่ใช่ตำรวจที่ตนกำกับดูแลแน่นอน ขอให้แจ้งตำรวจเพื่อดำเนินคดีได้เลย อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าของร้านไม่ติดใจเอาความ เนื่องจากชายที่อ้างตัวว่าเป็นตำรวจยังไม่ได้ก่อเหตุใดๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 “สาครออนไลน์” ได้รับการติดต่อจาก พ.ต.อ.จำแรง ว่า พบชายไม่ทราบชื่อจำนวน 5 คน อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ขอตรวจค้นยาเสพติดภายในร้านขายข้าวสารและแก๊สหุงต้มแห่งหนึ่งใน ต.นาดี ซึ่งได้เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.วิรัตน์ ผลพัฒนาสกุลชัย พนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อขอลงบันทึกประจำวัน
พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ มีชายไม่ทราบชื่อ อายุประมาณ 35-40 ปี ทำทีมาซื้อข้าวสารในร้าน แล้วก็บอกว่าให้นำข้าวสารไปส่งที่วัด พร้อมกับฝากกล่องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไว้กับที่ร้าน บอกว่าให้นำไปส่งพร้อมกับข้าวสารด้วย จากนั้นไม่นานก็มีชาย 5 คน ขับรถมาจอด แต่งกายในชุดนอกเครื่องแบบโดยอ้างตัวว่าเป็นตำรวจ ป.ป.ส. ขอตรวจสอบกล่องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดังกล่าว
จากนั้น ตำรวจเดินไปที่กล่องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่วางอยู่ในร้าน และบอกว่าพบยาเสพติด แต่ไม่ทราบว่าเป็นยาเสพติดอะไร ทางคนที่อยู่ในร้านก็ยืนยันว่ากล่องนี้ไม่ใช่กล่องของร้าน แต่มีคนมาฝากไว้ ชายทั้ง 5 คนก็ไม่เชื่อ สุดท้ายต้องเอากล้องวงจรปิดมาเปิดให้ดู ชายกลุ่มดังกล่าวจึงได้ออกจากร้านไปพร้อมกล่องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ตำรวจ สภ.เมืองสมุทรสาคร ทราบตัว 1 ใน 5 คนที่อ้างตัวว่าเป็นตำรวจแล้ว หนึ่งในนั้นเป็นตำรวจจริง ยศพันตำรวจโท ตำแหน่งสารวัตรปราบปรามของสถานีตำรวจภูธรแห่งหนึ่ง ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งกลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นตำรวจนั้นยืนยันว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่อซื้อยาเสพติด แต่เกิดการผิดพลาดในการสื่อสารทำให้มาผิดสถานที่ โดยเบื้องต้นได้เคลียร์กับเจ้าของร้านดังกล่าวแล้ว
ช่วงเวลานั้น “สาครออนไลน์” ได้โทรศัพท์สอบถามนายตำรวจคนดังกล่าว ปรากฎว่าปลายสายกล่าวกับผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ ว่าได้มีการชี้แจงแล้วว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนที่จะขอตัววางสายไป
เป็นที่น่าสังเกตว่าพฤติกรรมของตำรวจเหล่านี้ คาดว่าน่าจะมีการวางแผนมาอย่างดี โดยมี “กล่องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยสร้างเรื่องราวขึ้นมา จากคำพูดที่ว่า “พบยาเสพติด แต่ไม่ทราบว่าเป็นยาเสพติดอะไร” พร้อมเรียกให้เจ้าของร้านมาเคลียร์นั้น โชคดีที่กล้องวงจรปิดทำให้กลุ่มตำรวจนอกเครื่องแบบเหล่านั้นไม่กล้าอยู่ต่อ และขอตัวกลับไปพร้อมกับกล่องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
อีกเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 ชาวบ้านในหมู่บ้านพงษ์ศิริชัย 1 ถนนเพชรเกษม ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.กระทุ่มแบน ว่าถูกชายฉกรรจ์อ้างตัวเป็นตำรวจ ป.ป.ส. เข้ามาขอตรวจค้นภายในบ้าน ก่อนทำการกรรโชกทรัพย์ และร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยใช้อาวุธปืนตบไปที่ใบหน้าและกล่าวหาว่าผู้เสียหายมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
ชายฉกรรจ์กลุ่มนี้จับผู้เสียหายควบคุมตัวใส่กุญแจมือ กวาดเอาทรัพย์สินในบ้าน เป็นสร้อยคอทองคำ แหวนทองคำ และอาวุธปืนไป อีกทั้งยังได้พาตัวผู้เสียหายไปขึ้นรถยนต์พาไปที่ตู้เอทีเอ็มบังคับให้ผู้เสียหายมอบบัตรเอทีเอ็มให้และบอกรหัส เบิกเงินสดจำนวน 20,000 บาท และยังให้โอนเงินอีก 30,000 บาท ก่อนพาผู้เสียหายกลับมาส่งที่ปากซอยทางเข้าหมู่บ้านแล้วหลบหนีไป
ตำรวจสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ 1 คน คือ นายฤทธิเดช อบรมชอบ อายุ 39 ปี ชาว จ.ร้อยเอ็ดก่อนขยายผลและเข้าจับกุมตัวนายนิธิพล แสงพิทักษ์ หรือ สารวัตรแพท อายุ 39 ปี ชาว จ.นครปฐม และนายธนเดช เพ็ชอู่ หรือจ่าเอส อายุ 31 ปี ชาว จ.นนทบุรี อดีตสิบตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กองบัญชาการกองทัพไทย แต่ถูกไล่ออกจากราชการมานาน 1 เดือนแล้ว
พ.ต.อ.พลัฏฐ์ วิเศษสิงห์ ผกก.สภ.กระทุ่มแบน เปิดเผยว่า คนร้ายกลุ่มนี้ได้ร่วมกันก่อเหตุมานานกว่า 1 เดือนแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ติดตามพฤติกรรมเพื่อจับกุมตัวผู้กระทำผิดไว้ได้ โดยขณะนี้มีผู้เสียหายเข้ามาชี้ตัวแล้ว 2 ราย ซึ่งรายที่สองนั้นไม่ขอเปิดเผยนามแต่ถูกปล้นทรัพย์ สูญทองคำไปน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 30 บาท มูลค่าประมาณ 6 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ต้องหาที่หลบหนีการจับกุมตามหมายศาลจังหวัดสมุทรสาครที่ 179/2556 อีก 1 คน คือ นายอ้วน หรือจ่าอ้วน ไม่ทราบชื่อจริงและนามสกุล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อเหตุ ซึ่งทางตำรวจ สภ.กระทุ่มแบน แจ้งว่าหากใครทราบเบาะแสคนร้ายก็ขอให้แจ้งมาด้วย เพื่อจะได้นำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความของสำนักงานกฎหมายษิทรา เบี้ยบังเกิด อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ในฐานะผู้ก่อตั้งทีมงานทนายประชาชน กล่าวกับ “สาครออนไลน์” ว่ากรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจค้นยาเสพติดโดยมิชอบนั้น โดยปกติหากเป็นคดียาเสพติด ทั้งตำรวจ ป.ป.ส. และตำรวจสืบสวนสอบสวนแต่ละพื้นที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุมัติศาลหมายค้น แต่ต้องกำหนดยศขึ้นมา
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด สามารถฟ้องกลับในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ แต่ที่ผ่านมาผู้เสียหายไม่อยากมีเรื่องกับตำรวจ อีกทั้งการสู้คดีเป็นไปอย่างลำบาก เนื่องจากคดียาเสพติดนั้น เวลาขึ้นสู่ศาลจะพิจารณาพยานจากฝ่ายตำรวจเป็นหลัก ซึ่งมักจะได้เปรียบตรงที่มีความรู้ทางกฎหมายมากกว่าบุคคลธรรมดา
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมตำรวจนอกรีตใช้ช่องโหว่ของขั้นตอนการจับกุมคดียาเสพติดแสวงหาผลประโยชน์นั้น เคยมีพฤติการณ์เช่นนี้อยู่ ซึ่งมักจะกระทำการกับคนที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยมีการรับเงินเพื่อแลกกับอิสรภาพ ตั้งแต่ 1-2 ล้านบาท แต่สำหรับบุคคลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเลยนั้นจะไม่เข้าไปยุ่ง นอกเสียจากเป็นตำรวจนอกรีตที่กระทำการเกินกว่าเหตุ
สอดคล้องกับที่เคยมีคดีฉาวในวงการสีกากี เมื่อปี 2543 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรายหนึ่ง ถูกตำรวจ สน.ทองหล่อ ดำเนินคดีในข้อหาครอบครองยาบ้า 1 เม็ด ซึ่งปรากฎว่าในช่วงตรวจค้น ตำรวจใช้วิธีการนำมือล้วงกระเป๋ากางเกง ซึ่งในมือตำรวจใส่ยาบ้าไว้ ผลก็คือนิสิตคนดังกล่าวถูกจำคุกนานกว่า 1 เดือนกระทั่งได้รับการประกันตัว และถูกศาลอุทธรณ์พิจารณาตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง
หากคนธรรมดามีความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจริง และหากมีเหตุทำร้ายร่างกาย สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจที่ทำร้ายร่างกาย ปฏิเสธข้อกล่าวหาในชั้นศาล จากนั้นหาทนายความสู้คดี แต่ถ้าไม่มีเงินที่จะจ้างทนายความ สามารถขรับความช่วยเหลือได้ที่สภาทนายความ แผนกช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ถนนราชดำเนินกลาง
แม้ในวงการสีกากีจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบของตำรวจได้ผ่านกลไกต่างๆ เช่น ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานจเรตำรวจ อาคาร 1 ชั้น 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เยื้องศูนย์การค้าสยามพารากอน), สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ฯลฯ หรือจะร้องเรียนกับสื่อมวลชนส่วนกลางได้อีกทางหนึ่งด้วย.