กลยุทธ์ 2 โรงพยาบาลเอกชนในสมุทรสาคร “มหาชัย-เอกชัย” หนีขาดทุน-ชิงลูกค้าระดับบน

เป็นที่ฮือฮาพอสมควรสำหรับผู้ประกันตน ทั้งพนักงานบริษัทและผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ เมื่อโรงพยาบาลเอกชัย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดสมุทรสาคร ตัดสินใจออกจากการเป็นสถานพยาบาลประกันสังคม ปี 2554

จากกรณีดังกล่าว ทำให้ผู้ประกันตนจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ที่เคยระบุสถานพยายาลแห่งนี้ ต้องย้ายไปใช้บริการที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐแทน และดูเหมือนว่าในช่วงเวลานี้ คาดว่าผู้ประกันตนหลายคนอาจจะกำลังตัดสินใจเปลี่ยนสถานพยาบาลแห่งใหม่

โรงพยาบาลสมุทรสาครได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลใหญ่ ใจกลางเมืองมหาชัย ที่มีเครื่องมือทางการแพทย์พร้อม รวมทั้งในเร็วๆ นี้เตรียมเปิดอาคาร 12 ชั้นเพื่อรองรับผู้ป่วย แต่เมื่อเป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งเดียวในจังหวัด ที่รองรับทั้งผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคแทบจะทุกตำบล รวมทั้งแรงงานต่างด้าวชาวพม่า

แม้ทางโรงพยาบาลจะมีการกั้นห้อง สำหรับผู้ประกันตนโดยเฉพาะ บริเวณข้างตึกอุบัติเหตุ แต่ในความเป็นจริงปัญหาใหญ่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้กำลังประสบ คือ บุคลากรทางการแพทย์ ไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน โดยเฉพาะแพทย์อัตราจ้างหลายคนอยู่ได้เพียงเดือน-สองเดือนก็ล่าถอยออกไป

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นโอกาสทองของโรงพยาบาลเอกชนที่มีอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งดูเหมือนว่าโรงพยาบาลมหาชัย 3 (โรงพยาบาลประกันสังคม) น่าจะมีความพร้อมมากที่สุด หลังก่อนหน้านี้ได้แยกออกจากแผนกประกันสังคม โรงพยาบาลมหาชัย มาตั้งโรงพยาบาลขึ้นมาใหม่บริเวณเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากสถิติจำนวนผู้ประกันตนที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งในจังหวัดได้รองรับ ปรากฏว่าชื่อของ “โรงพยาบาลศรีวิชัย 5” เหลือโควต้าผู้ประกันตนว่างมากที่สุดถึง 1 แสนสองหมื่นคน ท่ามกลางกระแสตอบรับจากผู้ที่ตัดสินใจเลือกโรงพยาบาลนี้ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก โดยเฉพาะในด้านการรักษา

ขณะที่โรงพยาบาลมหาชัย แม้จะระบุว่าจำนวนผู้ประกันตนเต็มจำนวน โดยมีผู้ประกันตนประมาณ 1 แสนราย และจะทยอยถ่ายโอนไปที่โรงพยาบาลมหาชัย 3 ซึ่งเปิดทำการไม่นานนัก แต่จำนวนผู้ประกันตนที่รองรับได้ ก็มีมากถึง 1 แสนกว่าคน เทียบกับจำนวนเตียงที่มีอยู่ 100 เตียงก็ถือว่ายังพอรับได้

หากคาดการณ์กันคร่าวๆ โดยนำตัวเลขผู้ประกันตนของทั้ง 2 โรงพยาบาลมารวมกัน เชื่อว่าหลังพ้นกำหนดเปลี่ยนสถานพยาบาล เครือโรงพยาบาลมหาชัยจะมีจำนวนผู้ประกันตนมากที่สุดในจังหวัดสมุทรสาคร จากตัวเลขของทั้ง 2 โรงพยาบาลที่จะต้องใช้บริการที่เดียวกัน และผลพวงจากโรงพยาบาลเอกชัยยกเลิกประกันสังคม

ท่ามกลางความกังวลของผู้ประกันตนว่า ปริมาณที่มากขึ้นจะทำให้คุณภาพลดลงหรือไม่ แม้เมื่อดูภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งใจจะทำให้เป็นโรงพยาบาลประกันสังคมต้นแบบ แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย โดยเจาะกลุ่มพนักงานและผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการก็ตาม

มีการคาดกันว่า เหตุผลที่โรงพยาบาลเอกชัยตัดสินใจออกจากสถานพยาบาลประกันสังคมในปีนี้ และเชื่อว่าจะไม่เข้าร่วมระบบบริการประกันสังคมตลอดไป น่าจะเกิดจากทางโรงพยาบาลฯ ต้องแบกรับต้นทุนในการดำเนินงานเกี่ยวกับผู้ประกันตนจำนวนมาก ซึ่งลูกค้ากลุ่มประกันสังคม ส่วนมากจะเป็นกลุ่มคนระดับกลางถึงล่าง ขณะที่ขนาดของโรงพยาบาลเล็กมาก รองรับได้วันละ 800-1,000 คนเท่านั้น

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ โรงพยาบาลเอกชัยต้องการที่จะวางตำแหน่งให้เป็นสถานพยาบาลสำหรับลูกค้าระดับบน โดยเฉพาะลูกค้าเงินสด เนื่องจากรูปแบบโรงพยาบาลได้รับการออกแบบและตกแต่งแบบสมัยใหม่ และยังได้จัดสรรพื้นที่ในส่วนกลางของโรงพยาบาลเป็นพื้นที่สีเขียวและสวนน้ำ เป็นการตอบสนองต่อผู้ที่มีกำลังซื้อที่ต้องการโรงพยาบาลในความรู้สึกใหม่ นอกเหนือจากคุณภาพการรักษา

การปรับเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าของโรงพยาบาลเอกชัย ด้วยการยกเลิกลูกค้าประกันสังคมจึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองว่า จะเน้นกลยุทธ์อย่างไรต่อไป นอกเหนือไปจากการคิดโปรแกรมตรวจสุขภาพ ผ่าตัด และทำคลอดแบบเหมาจ่าย ซึ่งตอบสนองต่อลูกค้าระดับกลางที่ต้องการกำหนดค่าใช้จ่ายได้เอง

ปัจจุบันแนวโน้มลูกค้าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ กลุ่มลูกค้าระดับบนส่วนมากจะใช้บริการที่โรงพยาบาลมหาชัยเป็นหลัก ส่วนหนึ่งจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้เคียงได้แก่ โรงพยาบาลพญาไท 3, โรงพยาบาลนครธน, โรงพยาบาลบางมด, โรงพยาบาลเกษมราษฏร์ บางแค ฯลฯ

โรงพยาบาลเอกชัย เปิดดำเนินการเมื่อเดือนเมษายน 2549 บริเวณริมถนนเอกชัย ตรงข้ามอาคารมหาชัยคอนโด บนเนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ ตัวอาคารสูง 6 ชั้น โครงสร้างอาคารประกอบด้วย ห้องตรวจ และห้องพักผู้ป่วย ซึ่งมีเตียงรับผู้ป่วยใน 100 เตียง ห้องตรวจโรค 20 ห้อง ใช้เงินลงทุนกว่า 350 ล้านบาท

เจ้าของโรงพยาบาลเอกชัยที่แท้จริงมาจากกลุ่มทุนท้องถิ่นตระกูล “ปัญญาสาคร” นำโดย ปัญญา ปัญญาสาคร ประธานกรรมการ บริษัท มหาชัยเมืองทองบ้านและที่ดิน ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท เอกชัยการแพทย์ โดยได้ร่วมทุนกับกลุ่มซอสปรุงรสตราง่วนเชียง และกลุ่มแพทย์ นำโดยนายแพทย์เกรียงไกร จีระแพทย์

หลังโรงพยาบาลเอกชัยเปิดตัวได้ไม่นาน โรงพยาบาลมหาชัย ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2532 ก็ดำเนินการรีโนเวตโรงพยาบาลครั้งใหญ่ โดยทุ่มงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท และพัฒนาศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะศูนย์หัวใจที่พัฒนาเสร็จในปี 2548 และคลีนิกเด็กซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

ก่อนที่จะผุดโปรเจ็กต์โรงพยาบาลประกันสังคมภายใต้ชื่อ “มหาชัย 3” เพื่อแยกออกจากลูกค้ากลุ่มเงินสดต่างหาก ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา แม้จะให้เหตุผลเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของสำนักงานประกันสังคม ที่จะให้มีโรงพยาบาลที่รับรักษาเฉพาะลูกค้าประกันสังคมเท่านั้นก็ตาม

น.พ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลมหาชัย เคยกล่าวเอาไว้ว่า เหตุผลที่ต้องเน้นให้บริการลูกค้าเงินสด เพราะต่อไปลูกค้ากลุ่มนี้ จะกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ และเป็นตัวผลักดันให้โรงพยาบาลเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ลูกค้ากลุ่มประกันสังคม จะเป็นรายได้เสริมในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา รองรับกลยุทธ์สร้างสมดุลรายได้ให้เข้มแข็งอีกด้วย

ผลพวงจากการรีโนเวต ทำให้ภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลที่เคยดูแออัด โดยเฉพาะเมื่อแผนกประกันสังคมตั้งอยู่หน้าโรงพยาบาล กลับหรูหราไปด้วยร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านอาหารและเบเกอรี่ชื่อดังอย่าง S&P ที่มาตั้งสาขากันถึงในโรงพยาบาล ขณะที่โรงพยาบาลเอกชัย แม้จะมีภาพลักษณ์ที่ดูใหม่กว่า ก็เพิ่งจะเปิดร้านเซเว่นอีเลฟเว่นด้านหน้าโรงพยาบาลไปเมื่อสิ้นปี 2553 ที่ผ่านมานี้เอง

สมุทรสาครแม้จะเป็นจังหวัดที่เล็ก แต่เมื่อประชากรส่วนใหญ่เป็นประชากรแฝง ความเจริญด้านอุตสาหกรรมและการขยายตัวของที่อยู่อาศัยรองรับจากกรุงเทพฯ ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ เร่งพัฒนาคุณภาพบริการให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ

ระหว่างสองโรงพยาบาลเอกชน “มหาชัย” และ “เอกชัย” จะเป็นอย่างไรต่อไป ในเมื่อทั้งคู่ต่างก็กระโจนเข้าหาลูกค้าระดับบน กับกลยุทธ์สร้างความโดดเด่นเพื่อดึงลูกค้าที่มีกำลังซื้อในจังหวัด ไม่ให้ไหลออกไปยังโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง.



5 ความคิดเห็น เรื่อง “กลยุทธ์ 2 โรงพยาบาลเอกชนในสมุทรสาคร “มหาชัย-เอกชัย” หนีขาดทุน-ชิงลูกค้าระดับบน”

  1. piyawat jitsuchon กล่าวว่า:

    มี.ค. 20, 11 at 10:52 am

    1.อยากให้มีการปรับปรุงเรื่องเวลา ผมเคยไปมีปํญหาเรื่องรอนานมากๆๆๆๆๆๆๆๆ
    2.พ.ญ. บางคนก็พูดจาไม่ค่อยดี ช่วยปรับปรุงด้วยครับ

  2. Cherry กล่าวว่า:

    พ.ย. 18, 11 at 2:45 am

    ในส่วนของประกันสังคม มีจุดแย่เยอะ
    1.การบริการช้า พยาบาลพูดจาแย่ เพราะคิดว่าแค่ประกันสังคม
    2.การจ่ายยาล่าช้ามาก
    3.การทำงานไม่เป็นระบบขั้นตอน บอกให้ไปจุดนี้ ซักพักก็บอกให้ไปอีกจุดหนึ่ง
    4.สุดท้ายสิ่งที่ควรปรับปรุงมากที่สุดคือ จรรยาบรรของหมอ พยาบาล และผู้ช่วยพยาบาล
    อย่างเห็นว่าเป็นประกันสังคมแล้วไม่ต้องระเอียดกับคนไข้

  3. neng กล่าวว่า:

    มิ.ย. 27, 13 at 10:22 am

    อยากให้ปรับปรุงมารยาทของพยาบาลชั้น5 ค่ะ

  4. กิ๊ฟ กล่าวว่า:

    ต.ค. 17, 13 at 4:58 pm

    พยาบาลแผนกประกันสังคม ชั้น4 พูดจาแย่มาก ชักสีหน้าใส่ เพียงแค่ต้องการทราบอาการของคนไข้ เราเป็นญาติก็อยากจะรู้ผล
    แต่พยาบาลตะคอกใส่ บอกว่าหมอบอกคนไข้ไปแล้ว ถ้าอยากรู้ก็ไปถามคนไข้เอง
    คือ อะไรยังไงค้าบ พยาบาลมีหน้าที่อะไรมิทราบ แล้วที่แย่กว่านั้น หมอไม่สนทนากับญาติเลย รีบมาก คงรับอีเวนท์หลาย รพ.

    ถ้าบริการแย่แบบนี้ แล้วจะยกระดับคนระดับบนอ่ะนะ
    เปลี่ยนทีมแพทย์ และพยาบาลก่อนมั้ย เพื่อสร้างความพอใจกับผู้ใช้บริการ

  5. นิรนาม กล่าวว่า:

    เม.ย. 29, 15 at 10:00 am

    วันที่29/4/58พาแม่มารักษาที่โรงพยาบาลมหาชัย3ค่ะต้องขอบอกตี้งแต่เริ่มเลยนะค่ะมายิืนบัตรที่ด้านหน้าได้รับการบริการที่ดีค่ะ….มาตรงจุดซักประวัติวัดความกันก็ดีมากค่ะ แต่พอไปตรงจุดห้องตรวจเจอหมอเด็กๆคนหนึ่งพูดจาไม่ดีเลยและไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ให้ญาติอยู่ด้วยตอนตรวจแม่เพิ่งรู้นัค่ะว่าเดดี๋ยวนี้เป็นเเบนี้เหรอและคนที่เป็นผู้ช่วยแต่ใส้เสื้อขาวกระฌปรงสีดำไม้รู้เด็กฝึกงานหรือเปล่าแต่พูดจาแย่และหน้าตาบึ้งตึง ถ้ามารับบริการแล้วเจอแบบนี้ก็ยาค่ะควรปรับปรุงอย่างมาก


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง