ผ่าแผนเฝ้าระวังน้ำท่วมสมุทรสาคร

วิกฤตมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล ส่วนหนึ่งของจังหวัดสมุทรสาครก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างร้ายแรงเช่นเดียวกัน เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ ทั้งรัฐบาล จังหวัดสมุทรสาคร และภาคอุตสาหกรรมได้มีการเตรียมความร้อมเพื่อรับมือกับน้ำหลากได้มากน้อยแค่ไหน

เริ่มกันที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ออกมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมีโครงการที่ต้องเฝ้าระวังตามกรอบของนายกรัฐมนตรี พื้นที่ลุ่มน้ำ (ต้นน้ำ, กลางน้ำ, ปลายน้ำตอนบนและปลายน้ำตอนล่าง) รวมทั้งสิ้น 155 โครงการ ภายใต้งบประมาณ เพื่อการเยียวยาฟื้นฟูและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ 120,000 ล้านบาท

ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ปลายน้ำตอนล่าง มีทั้งสิ้น 7 โครงการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย คือ สิ่งก่อสร้างที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้าน จำนวน 2 รายการ จำนวน 38 หน่วย, ขุดลอกคลองจางวาง – คลองหม้อแกง ต.หลักสาม อ.บ้านแพ้ว, ขุดลอกคลองดำเนินสะดวก กม.0+000 ถึง กม.10+400 ต.โรงเข้ และ ต.หลักสาม อ.บ้านแพ้ว, ขุดลอกคลองดำเนินสะดวก กม.10+700 ถึง กม.20+700 ต.หลักสาม, ต.สวนส้ม และ ต.คลองตัน อ.บ้านแพ้ว และขุดลอกคลองระบายน้ำ ดี 3 ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว

ส่วนกรมทางหลวง โดยแขวงการทางสมุทรสาคร มีค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน – โครงการบูรณะฟื้นฟูเร่งด่วนทางสายหลักและโครงข่ายสำคัญที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ส่วนกองบัญชาการกองทัพไทย มีโครงการขุดลอกคลองมหาชัย กม.4+000 ถึง กม.9+000 ตำบลโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง

สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “บทเรียนสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดสมุทรสาคร” โดยการจัดประชุมระดมสมองเพื่อสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

ขณะเดียวกัน ยังได้มีการจัดทำโครงการขุดลอกคูคลองเพื่อป้องกันอุทกภัย และโครงการก่อสร้างคันกั้นน้ำ เขื่อนดิน กำแพงริมตลิ่ง เพื่อป้องกันอุทกภัยขึ้น โดยจังหวัดสมุทรสาครได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 109,109,000 บาท แยกเป็นโครงการขุดลอกคลอง 42 คลอง เป็นเงิน 100,962,900 บาท และโครงการก่อสร้างคันกั้นน้ำ เขื่อนดิน และกำแพงริมตลิ่ง 9 แห่ง เป็นเงิน 8,146,100 บาท

ส่วนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะยาว (Back bone) จังหวัดสมุทรสาครได้จัดทำแผนหลัก และโครงการที่จะต้องจัดทำตามยุทธศาสตร์ การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบบูรณาการและยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว จำนวน 11 โครงการ วงเงิน 9,807,400,000 บาท ขณะนี้ได้นำส่งกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาดำเนินการแล้ว

ส่วนโครงการชลประทานสมุทรสาคร ได้จัดทำแผนการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยมีจุดเฝ้าระวังเตือนภัยอยู่ 4 จุด ได้แก่ คลองมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม, คลองภาษีเจริญ, คลองสี่วาพสวัสดิ์ และคลองมหาชัย ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในโครงการแก้มลิง คลองมหาชัย-คลองสนามชัย ตามแนวพระราชดำรินั้น ในช่วงน้ำปกติ เมื่อน้ำทะเลขึ้น โครงการฯ จะดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำจำนวน 9 แห่งภายในระบบแก้มลิง เพื่อรับน้ำจากภายนอกเข้ามาหมุนเวียนในระบบแก้มลิง โดยระบายออกด้วยประตูระบายน้ำคลองมหาชัยเมื่อน้ำทะเลลดต่ำ

ทั้งนี้ ให้เหตุผลว่า เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรที่ทำเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน แต่เมื่อถึงช่วงน้ำหลาก โครงการฯ จะดำเนินการพร่องน้ำในคลองมหาชัย โดยเปิดประตูระบายน้ำ ในช่วงน้ำทะเลลดต่ำ และสูบระบายน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง เพื่อให้น้ำจากพื้นที่ตอนบนสามารถระบายลงสู่พื้นที่แก้มลิงคลองมหาชัยได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการระบายลงแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา

ส่วนการบริหารจัดการน้ำพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตะวันตก ช่วงน้ำปกติ โครงการฯ จะดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อรับน้ำจากแม่น้ำท่าจีนเข้ามาหมุนเวียนในคลองต่างๆ ในช่วงน้ำทะเลหนุน เกษตรกรจะสูบน้ำในคลองเข้าพื้นที่การเกษตร และระบายออกเมื่อน้ำทะเลลดต่ำ แต่ในช่วงน้ำหลาก โครงการฯ จะดำเนินการพร่องระดับน้ำในคลองซอยต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยระมัดระวังปริมาณฝนที่ตกมากขึ้น

เพราะพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นร่องสวน มีระดับต่ำกว่าพื้นที่โดยรอบ การรับน้ำจะเปิดรับน้ำจากแม่น้ำท่าจีนในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงเช่นเดียวกับช่วงเวลาปกติ โดยปัจจุบันอาคารชลประทานริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตกมีจำนวนทั้งสิ้น 13 แห่ง ใน 3 ตำบล ได้แก่ ต.บ้านเกาะ อ.เมืองฯ ต.สวนส้ม และ ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว แบ่งเป็นท่อระบายน้ำ 8 แห่ง ประตูระบายน้ำและประตูเรือสัญจร 5 แห่ง

สำหรับพื้นที่ชลประทานจังหวัดสมุทรสาคร ประกอบด้วย โครงการชลประทานสมุทรสาคร พื้นที่ 242,074 ไร่, โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-สนามชัย พื้นที่ 28,700 ไร่, โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ พื้นที่ 128,705 ไร่, โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก พื้นที่ 90,193 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม พื้นที่ 54,780 ไร่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครชุม พื้นที่ 29,464 ไร่

กำแพงน้ำสำเร็จรูปเฮสโก (ภาพจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง)

ส่วนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม แม้ในปี 2554 ที่ผ่านมาจะไม่ได้ประสบปัญหาอุทกภัย แต่ก็ได้กำหนดงบประมาณสำหรับเตรียมแผนฉุกเฉินรองรับน้ำท่วม 6 แห่งทั่วประเทศ รวม 180 ล้านบาท มีแนวป้องกันรวม 60 กิโลเมตร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนภายในนิคมอุตสาหกรรมก่อนที่จะสร้างแนวป้องกันน้ำถาวร ึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ กนอ.ได้เปิดตัวกำแพงกั้นน้ำสำเร็จรูปเฮสโก (HESCO) จากประเทศอังกฤษ มีลักษณะเป็นเหล็กกล้าแบบตะแกรง รูปทรง 4 เหลี่ยม ข้างในบุด้วยแผ่นใยสังเคราะห์ชนิดพิเศษสามารถบรรจุทราย หรือหินลงไปภายในได้

โดยมีจุดเด่นสามารถติดตั้งได้รวดเร็วในยามฉุกเฉิน ใช้แรงงานเพียง 2-3 คนและใช้ระยะเวลาเพียง 20 นาทีเท่านั้น ในการติดตั้งกำแพงขนาดความยาว 100 เมตร มีขนาดกำแพงเทียบเท่าถุงทราย 1,500 ถุง สามารถทนแรงดันน้ำได้สูงดีกว่ากำแพงที่ใช้วัสดุประเภทพลาสติก อายุการใช้งานได้ยาวนาน 5-10 ปี ทนต่อรังสียูวีและป้องกันสารพิษต่างๆ และวัสดุสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.ช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้ก่อน เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

ส่วนการก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมถาวร ในนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง กนอ.ได้รับงบประมาณเป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งจะใช้ระยะเวลา 6 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนมี.ค. 2556 ทำให้ทาง กนอ. จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการโรงงานต่างๆ ด้วยการหาระบบสำรองเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง