‘กู้อ้อมน้อย’ โค้งสุดท้ายก่อนออกทะเล
นับว่าวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ มวลน้ำที่เข้ามาในจังหวัดสมุทรสาครหยุดอยู่เพียงแค่คลองภาษีเจริญ ก่อนที่จะส่งผ่านไปยังแม่น้ำท่าจีน และคลองสาขาต่างๆ รวมทั้งไหลตลบหลังไปยังเขตบางแค บางบอน และบางขุนเทียนของกรุงเทพมหานคร โดยไม่ลงไปยังอำเภอเมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ
ณ วันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ความเสียหายอันเนื่องมาจากน้ำท่วมครั้งนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ต.อ้อมน้อยซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ต.ท่าไม้ ต.สวนหลวง ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน และ ต.บางน้ำจืด อ.เมืองฯ นอกจากนี้ยังมีบางตำบลที่ทำหน้าที่รับน้ำผ่านทางคลองต่างๆ เมื่อน้ำล้นตลิ่งแล้วได้เข้าท่วมในบางพื้นที่
ที่ผ่านมาการระบายน้ำที่ท่วมในพื้นที่ลงสู่ทะเล ผ่านแม่น้ำท่าจีนโดยคลองภาษีเจริญ รวมทั้งคลองสี่วาตากล่อมต่อเนื่องมายังคลองบางน้ำจืด แม้ระดับน้ำยังคงทรงตัว เนื่องจากยังมีมวลน้ำสะสมไหลลงสู่เบื้องล่างอย่างต่อเนื่อง แต่ชลประทานยังคงรักษาพื้นที่น้ำท่วมไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นที่น่ายอมรับในระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ยังนับว่าโชคดีที่ก่อนจะถึงพื้นที่ลุ่มต่ำของจังหวัด มวลน้ำส่วนหนึ่งตลบหลังไปทางกรุงเทพมหานคร เนื่องจากพื้นทีเขตหนองแขมต่ำกว่าพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน แต่ถึงกระนั้นคลองที่รับน้ำจากคลองภาษีเจริญอย่างคลองสี่วาตากล่อมและคลองแคราย ซึ่งน้ำจะไหลผ่านทางนั้น ทำให้บางตำบลได้รับผลกระทบแบบหางเลข
รายงานจากสำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ปัจจุบันพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกยังมีมวลน้ำค้างกว่า 2,240 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งหากรวมทุ่งฝั่งตะวันออกมีมวลน้ำค้างกว่า 6,350 ล้าน ลบ.ม. รวมกันแล้วมีปริมาณมวลน้ำที่ค้างในทุ่งมากถึง 8,590 ล้าน ลบ.ม.
โดยทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ไล่ตั้งแต่ทุ่งฝักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา 266 ล้าน ลบ.ม., ทุ่งเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จ.พระนครศรีอยุธยาและ จ.สุพรรณบุรี 691 ล้าน ลบ.ม., ทุ่งพระยาบรรลือ จ.พระนครศรีอยุธยา 770 ล้าน ลบ.ม., ทุ่งพระพิมลราชา จ.นนทบุรี 411 ล้าน ลบ.ม. และทุ่งภาษีเจริญ จ.สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร 91 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย.นี้ กรมชลประทานจำเป็นต้องบล็อกน้ำจากทุ่งต่างๆ ไม่ให้เข้ามาเติมในพื้นที่ตอนล่างมากเกินไป แต่จะทยอยสูบออกไปตั้งแต่ช่วงผ่านน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าในสัปดาห์แกรกของเดือนธันวาคม หลายพื้นที่น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
จากการคำนวณโดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ระดับน้ำทะเลปากน้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร จะหนุนสูงระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย.นี้ น้ำขึ้นเต็มที่ช่วงเวลาประมาณ 8.00-9.00 น. สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 3.6 เมตร ก่อนจะลดลงในช่วงก่อนเที่ยงวัน อย่างไรก็ตามระดับน้ำทะเลหนุนมีแนวโน้มเบาลางลงในวันที่ 30 พ.ย.นี้
ขณะที่เดือนธันวาคมนี้ ระดับน้ำทะเลปากน้ำท่าจีนที่ขึ้นเต็มที่ สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 3.3 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะมาตรการรับมือของเทศบาลนครสมุทรสาคร ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเกิดน้ำท่วมในตลาดมหาชัย เครื่องสูบน้ำของเทศบาลสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติไม่นานนัก
สิ่งที่น่าจับตามองนับจากนี้เป็นต้นไป คือ แผนการกู้พื้นที่น้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ ต.อ้อมน้อยซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกสิ่งทอจำนวนมาก หลังจากที่เกิดน้ำทุ่งจาก อ.พุทธมณฑล และ อ.สามพราน จ.นครปฐม รวมทั้งคลองทวีวัฒนาไหลเข้าท่วมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา
หลังจากการประกาศชัยชนะของผู้ว่าฯ สมุทรสาคร “จุลภัทร แสงจันทร์” ที่สร้างความกังขาให้กับผู้ที่ได้ยินได้ฟัง หนึ่งสัปดาห์ให้หลังก็มีการแถลงข่าวมาตรการกู้พื้นที่อ้อมน้อย โดยใช้เวลาประมาณ 15 วัน ซึ่งจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน โดยใช้คลองภาษีเจริญ ถนนเพชรเกษม ถนนพุทธสาคร และถนนเศรษฐกิจเป็นตัวแบ่งพื้นที่
ได้แก่ โซนที่ 1 ตั้งเป้าหมายไว้ 5 วัน มีปริมาณน้ำ 4.8 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวนโรงงาน 83 แห่ง และครัวเรือน 8,025 ครัวเรือน โซนที่ 2 เป้าหมาย 3 วัน บนพื้นที่ 16.6 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำ 8.3 ล้านลูกบาศก์เมตร มีโรงงาน 162 แห่ง และมีครัวเรือนอยู่ 13,589 ครัวเรือน
โซนที่ 3 เป้าหมาย 7 วัน มีปริมาณน้ำ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีครัวเรือน 1,644 ครัวเรือน แม้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เล็ก แต่ต้องใช้เวลามาก เพราะยังคงเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากคลองทวีวัฒนา ส่วนโซนที่ 4 ตั้งเป้าหมายไว้ 15 วัน มีปริมาณน้ำ 3.95 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงงาน 94 แห่ง และมีครัวเรือน 10,882 ครัวเรือน แต่ต้องใช้เวลามากที่สุด เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำจาก จ.นครปฐม ที่ยังเอ่อล้นมาตาม ถนนพุทธมณฑลสาย 4 และถนนพุทธมณฑลสาย 5
โดยการกู้พื้นที่นั้นจะเริ่มพร้อมกันทั้ง 4 โซน ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคมนี้ ซึ่งการกู้พื้นที่แต่ละโซน จุดที่เริ่มก่อนอยู่ใต้แนวถนนเพชรเกษมลงมา หมายถึงโซน 1 โซน 2 และโซน 3 โดยจะใช้วิธีการสูบน้ำลงคลองอ้อมน้อย และคลองแค แล้วระบายออกสู่แม่น้ำท่าจีน เมื่อระดับน้ำด้านล่างถนนเพชรเกษมลดลงถึงจะกู้โซน 4 ซึ่งกู้ยากที่สุด เพราะต้องรับน้ำจาก จ.นครปฐม โดยจังหวัดจะต้องดำเนินการให้ได้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ คือ “ลดให้ไว ฟื้นฟูทันที”
เสียงสะท้อนที่ตามมาจากแผนกู้พื้นที่อ้อมน้อยของจังหวัดสมุทรสาคร คือ ประชาชนเริ่มไม่มั่นใจว่าแผนการดังกล่าวจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ รวมทั้งอุปสรรคจากการที่น้ำที่ท่วมอ้อมน้อยอยู่ยังไหลมาจากทางด้านถนนพุทธมณฑลสาย 5 เรื่อยๆ และความวิตกกังวลในการเปิดประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์ ตามข้อเรียกร้องของชาว จ.นนทบุรี สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นการบั่นทอนให้การกู้พื้นที่อ้อมน้อยไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้
ต้องจับตามองกันต่อไปว่า น้ำที่ท่วมในพื้นที่อ้อมน้อยเกือบ 1 เดือน ที่สุดแล้วจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดอย่างไร เพราะมวลน้ำจำนวนกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม.ที่ยังคงค้างในทุ่งเจ้าพระยาตะวันตก ยังต้องรอการระบายลงสู่ทะเลแบบค่อยเป็นค่อยไป