นับถอยหลัง ‘พื้นที่ต่ำ’ ฉุดจมบาดาล!
1 พฤศจิกายน 2554 จังหวัดสมุทรสาครได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดจากมวลน้ำทางภาคเหนือเป็นครั้งแรก ที่หมู่บ้านสินสมบูรณ์ ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน ก่อนที่ภายหลังน้ำทุ่งจากทางพุทธมณฑลสาย 5 จะไหลเข้าท่วมพื้นที่เทศบาลตำบลอ้อมน้อย โดยเฉพาะตลาดเก้าแสนและสามแยกอ้อมน้อยซึ่งถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในจังหวัดสมุทรสาคร
ลักษณะของน้ำที่ไหลเข้ามายังหมู่บ้านสินสมบูรณ์ ส่วนหนึ่งเป็นน้ำที่มาจากคลองทวีวัฒนา ซึ่งรับน้ำทั้งจากคลองมหาสวัสดิ์ที่รับน้ำจากทางด้าน อ.บางบัวทอง และ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี และแม่น้ำท่าจีนผ่านทางคลองนราภิรมย์ที่ประตูระบายน้ำลำพญา อ.บางเลน จ.นครปฐม โดยก่อนหน้านี้ได้สั่งให้ประชาชนในเขตทวีวัฒนา ก่อนที่น้ำจะไหลลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มุ่งหน้าคลองภาษีเจริญ
อีกส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากน้ำในคลองมหาสวัสดิ์ล้นตลิ่ง โดยเฉพาะกรณีคันกั้นน้ำแตกที่ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งก่อนหน้านี้ทางตอนเหนือของคลองมหาสวัสดิ์น้ำท่วมสูงกว่า 1.80 เมตร กลายเป็นช่องทางที่ทำให้น้ำผ่านเข้ามาทางท่อระบายน้ำของถนนพุทธมณฑลสาย 4 เรื่อยๆ ซึ่งน้ำจากพุทธมณฑลยังส่งผลกระทบมาถึงถนนพุทธมณฑลสาย 5 เช่นกัน
ความพยายามของมวลน้ำจำนวนมหาศาลเริ่มจากการไหลซึมผ่านทางท่อระบายน้ำ เมื่อไหลผ่านได้สำเร็จก็จะทะลักเข้ามา ก่อนที่จะท่วมตั้งแต่ระดับเล็กน้อย และขยายตัวขึ้นมาสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามแรงโน้มถ่วงที่ไหลลงจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ วิธีการเช่นนี้จะค่อยๆ ฝ่าด่านสิ่งกีดขวางทางน้ำไปเรื่อยๆ แม้จะมีสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลก็ผลักดันให้อยู่ในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเข้าท่วมได้เป็นผลสำเร็จ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต.อ้อมน้อย ต่อเนื่องไปยัง ต.ท่าไม้ และ ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน ซึ่งเป็นสองตำบลที่อยู่ติดกับคลองภาษีเจริญ ฝั่งทิศเหนือ ทำให้พื้นที่ฝั่งทิศใต้ของคลองภาษีเจริญ ซึ่งประกอบด้วย ต.ตลาดกระทุ่มแบน ต.ดอนไก่ดี ต.ท่าเสา ต.คลองมะเดื่อ ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน ไล่ลงมาถึง ต.บ้านเกาะ ต.นาดี ต.ท่าทราย ต.ท่าจีน ต.คอกกระบือ ต.บางน้ำจืด ต.พันท้ายนรสิงห์ และ ต.โคกขาม ไปถึงเทศบาลนครสมุทรสาคร มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมจากมวลน้ำเหนือตามมา
และแน่นอนว่า ผลกระทบที่หลายฝ่ายจับตามอง คือ ถนนพระรามที่ 2 ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมเส้นเดียวที่ยังเหลืออยู่ โดยเฉพาะขณะนี้เมื่อเส้นทางคมนาคมสายหลักไปยังภาคเหนือถูกตัดขาด ก็ต้องใช้เส้นทางนี้อ้อมไปยังจังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรีเพื่อมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือ อีกด้านหนึ่งนอกจากที่ต้องโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากแล้ว นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกจับตามอง 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ก็มีความเสี่ยงที่จะจมน้ำหรือไม่
แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่โครงการส่วน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ กรมชลประทาน เปิดเผยกับสาครออนไลน์ว่า น้ำจากคลองทวีวัฒนาที่ไหลลงมาถึงคลองภาษีเจริญส่วนใหญ่ไหลลงไปทางเขตบางแค และเขตภาษีเจริญมากกว่าเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำกว่าเขตอำเภอกระทุ่มแบน ซึ่งทางโครงการได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองภาษีเจริญเพิ่ม เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน โดยในขณะนี้สามารถเพิ่มกำลังระบายน้ำอยู่ที่ 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
อย่างไรก็ตาม จากการตั้งข้อสังเกตโดยอ้างอิงแผนที่ซึ่งระบุถึงพื้นที่ลุ่มต่ำ พบว่าในพื้นที่คลองภาษีเจริญฝั่งทิศใต้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งต้องเฝ้าระวัง ส่วนใหญ่จะอยู่ทางทิศใต้ของคลองกระทุ่มแบน ถึงคลองสี่วาตากล่อมฝั่งทิศตะวันตก ลงมาถึงคลองมหาชัย นอกจากนี้ยังมีคลองครุด้านทิศใต้ ถึงเขตเทศบาลนครสมุทรสาครซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเช่นเดียวกัน
จากการคาดการณ์มวลน้ำจากทาง ต.อ้อมน้อย เมื่อมาถึงคลองภาษีเจริญ จะไหลออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ไหลออกแม่น้ำท่าจีน จะมีคลองแนวลิขิตรับน้ำส่งต่อไปยังคลองสี่วาพาสวัสดิ์ ออกสู่แม่น้ำท่าจีนที่ประตูระบายน้ำวัดพันธุวงษ์ ส่วนที่ไหลออกคลองสาขาในพื้นที่ ต.คลองมะเดื่อ ได้แก่ คลองหมื่นปรามรมย์ คลองราษฎร์พัฒนา และคลองสี่วาตากล่อม ซึ่งแนวโน้มอย่างหลังเริ่มส่งผลกระทบต่อ ต.แคราย ซึ่งน้ำเหล่านี้จะไหลไปถึง ต.คอกกระบือ และ ต.บางน้ำจืด ออกสู่คลองมหาชัย
ไม่นับรวมหากน้ำในคลองภาษีเจริญเอ่อล้น ก็จะเข้าท่วมในลักษณะน้ำทุ่งอีกครั้ง ซึ่งหากผ่านคลองกระทุ่มแบนมาได้น้ำจะไหลเข้ามายังพื้นที่ลุ่มต่ำใน ต.คลองมะเดื่อ ต.แครายกินวงกว้างได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และจะกระทบต่อ ต.นาดี ต.คอกกระบือ และ ต.บางน้ำจืดซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งหมดได้เช่นกัน แม้จะมีคลองในแนวนอนอย่างเช่นคลองสี่วาพาสวัสดิ์ ซึ่งตลิ่งด้านฝั่งทิศเหนือ ซึ่งก็คือถนนเลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ สูงกว่าด้านทิศใต้ประมาณ 1 เมตรก็ตาม
สำหรับเขตเทศบาลนครสมุทรสาคร ก่อนหน้านี้ได้มีการรับมือโดยเตรียมเครื่องสูบน้ำและเสริมจุดที่เป็นรอยรั่วตามเขื่อนพนังกั้นคลองมหาชัย ซึ่งก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเนื่องจากผู้รับเหมาทิ้งงาน ล่าสุดได้มีการทำสัญลักษณ์ลูกศรสีแดง ซึ่งก็คือระดับความสูงถนนพระราม 2 หน้าภัตตาคารนิวรสทิพย์เอาไว้ตามเสาไฟฟ้าทั่วเขตเทศบาล ซึ่งจะมีความสูงมากน้อยลดหลั่นกันไปตามแต่ในพื้นที่ ขณะที่ประชาชนเจ้าของร้านค้าต่างเสริมกระสอบทรายและก่ออิฐเพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้าไปด้านใน
อย่างไรก็ตาม เทศบาลนครสมุทรสาครจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่สองส่วนใหญ่ๆ คือมวลน้ำเหนือที่หากผ่านคลองครุมาได้แล้วก็จะไหลเข้ามายังพื้นที่ลุ่มต่ำใน ต.ท่าทราย ซึ่งอยู่บริเวณคลองครุฝั่งทิศใต้กินวงกว้างได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อถนนพระรามที่ 2 ตั้งแต่สะพานข้ามคลองหวายลิง (กิโลเมตรที่ 25) ออกไป ซึ่งเคยเกิดน้ำท่วมซ้ำซากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
อีกส่วนหนึ่งที่เทศบาลนครสมุทรสาครยังคงต้องรับมือ คือ ภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีภาวะน้ำทะเลหนุนสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 3.4 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางในช่วงเช้า ระหว่างวันที่ 10-16 พฤศจิกายนนี้ และช่วงเช้าถึงสายของวันที่ 25 พฤศจิกายนถึง 2 ธันวาคมนี้ โดยเฉพาะวันที่ 26-28 พฤศจิกายนนี้ ระดับน้ำจะท่วมสูงถึง 3.6 เมตรเลยทีเดียว
สิ่งที่คนสมุทรสาครส่วนหนึ่งได้รับมือ นอกจากการตั้งกระสอบทรายและก่ออิฐป้องกันน้ำท่วมแล้ว หลายคนยังคาดหวังที่จะอพยพไปอยู่อาศัยที่อื่น หากไม่สามารถรับมือกับน้ำท่วมที่เข้ามาในบ้านพักอาศัยได้ โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคตะวันตก อาทิ ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ใกล้จังหวัดสมุทรสาครมากที่สุด โดยคาดว่าสมุทรสาครจะมีภาวะน้ำท่วมประมาณ 1 เดือน
ภาวะน้ำท่วมที่ใกล้จะเข้ามาถึงจังหวัดสมุทรสาคร จึงควรตั้งสติและติดตามสถานการณ์โดยใช้วิจารณญาณ และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นตามสมควรแก่เหตุ เพราะนี่เป็นจังหวัดสุดท้ายที่มวลน้ำจากภาคเหนือที่ไหลลงมาจะออกสู่อ่าวไทย และอาจจะต้องทำใจว่า นับตั้งแต่วันนี้เราอาจจะไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบายเหมือนเช่นเคยอีกต่อไป
คนท่าจีน กล่าวว่า:
พ.ย. 06, 11 at 3:27 pmWM ครับ ระดับน้ำ 3.4ม. น่าจะเป็นระดับความสูงของน้ำ “ณ บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน” เหนือระดับน้ำลงต่ำสุด ซึ่งหมายความว่ามีการคำนวณว่าระดับน้ำทะเลจะลงต่ำสุดเท่าไร บริเวณปากแม่น้ำจะมีระดับน้ำสูงขึ้นมาอีกเท่านั้น ซึ่งนั้นก็คือ 3.4 เมตร ซึ่งเมื่อรวมกับระดับน้ำที่มีอยู่แล้ว (ชาวเรือเรียกว่า “น้ำนอนร่อง)ประมาณ 2-3 เมตร ก็จะเป็นว่าบริเวณปากแม่น้ำจะมีระดับน้ำลึกประมาณ 5-6.4 เมตร เรือที่มีระดับกินน้ำลึกไม่เกินนี้ ก็สามารถผ่านเข้าร่องน้ำได้ ไม่ใช่น้ำจะท่วม 3.4 เมตร
ส่วนช่วงสิ้นเดือนระดับความสูงของน้ำเหนือระดับน้ำทะเลต่ำสุดจะเป็น 3.6 เมตร รวมกับน้ำนอนร่องก็จะเป็นระดับน้ำที่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน 5.6-6.6 เมตร เรือใหญ่ผ่านได้สบาย ไม่น่าเป็นระดับน้ำท่วม 3.6 เมตรอย่างในเนื้อข่าว
ผมเริ่มติดตาม Sakhon Online มาได้ระยะนึงแล้วเพราะเห็นว่าข้อมูลแน่นดี มีความน่าเชื่อถือ ไม่อยากให้ผิดพลาดง่าย ๆ แบบนี้ครับ ย่ิงเป็นข่าวน้ำท่วมจะยิ่งทำให้ประชาชนที่ติดตามข่าวจากเว็บนี้เกิดความตระหนกและเข้าใจผิดได้
หากผมเข้าใจผิดพลาด รบกวนช่วยชี้แนะด้วย
ขอบคุณครับ
เน กล่าวว่า:
พ.ย. 12, 11 at 3:52 amพี่ด้านบนครับ คือผม งง อ่ะครับ สรุปจะท่วมจาก รทก 3.6 เมตร หรือจากระดับน้ำลงต่ำสุด และถ้าจากระดับน้ำลงต่ำสุดสูงขึ้น 3.6 เมตร ดังนั้นเราจะน้ำท่วมเท่าไหร่ครับ
คนมหาชัย กล่าวว่า:
พ.ย. 12, 11 at 4:02 amขอขอบคุณความรู้ดีๆที่แบ่งปันจาก คุณคนท่าจีนครับ ทำให้เราไม่ตื่นตกใจไปกับข่าวจนตื่นตูม