‘สาครออนไลน์’วิเคราะห์ใช้สื่อทำการตลาด ‘เฟซบุ้ค’แค่กระแสฉาบฉวย
ใครจะเชื่อว่า คนรุ่นใหม่ที่นิยมเล่นเฟซบุ้ค (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter) หรือโปรแกรมประยุกต์อื่นๆ ทั้งบนหน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน เมื่อช่องทางในการสื่อสารที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาด้วยตัวเอง หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “เครือข่ายสังคมออนไลน์” (Social Network) ถือเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด เพราะเพียงแค่ไม่กี่ข้อความ เมื่อมีผู้ติดตามก็สามารถสื่อสารกับคนจำนวนมากพร้อมกันได้
เฟซบุ้คและทวิตเตอร์ เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่คนไทยนิยมใช้งานมากที่สุดในปัจจุบัน คนไทยมีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ้คกว่า 6 ล้าน 7 แสนชื่อ (ข้อมูลจาก http://www.checkfacebook.com) ส่วนผู้ใช้ทวิตเตอร์ก็มีจำนวนมากไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกับบุคคลที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ผู้นำประเทศ นักการเมือง ดารานักแสดง สื่อมวลชน อาจเรียกได้ว่ายิ่งมีชื่อเสียง ผู้ที่ติดตามก็ย่อมมีจำนวนมากเป็นเงาตามตัว
เครือข่ายสังคมออนไลน์ถูกนำไปใช้ในหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนหรือคนที่มีความสนใจเหมือนๆ กัน กระทั่งมีบริษัทห้างร้านได้ใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์กิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือทำการตลาด บางคนอาจจะมองว่า เฟซบุ้คกับทวิตเตอร์ เป็นของเล่นสนุกๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์แล้ว ก็ย่อมสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและสังคม แม้การใช้ Social Network มีทั้งผลดีผลเสีย ควรใช้ด้วยความระมัดระวังก็ตาม
ปัจจุบัน บริษัทห้างร้าน รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงในจังหวัดสมุทรสาคร ต่างก็ใช้เฟซบุ้คและทวิตเตอร์ ที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือ “เส่ง-ชวพล วัฒนพรมงคล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัฒนาธนสินทรัพย์ จำกัด หรือเบสบาย ทายาท “เฮียย้ง” สมชาย วัฒนพรมงคล ได้เริ่มต้นใช้เฟซบุ้คเพื่อโพสต์สถานะ รวมทั้งภาพถ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือครอบครัว มาตั้งแต่ที่เขาเป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครสมุทรสาคร
เมื่อไม่นานมานี้ “ชวพล” ได้นำกิจการของตระกูลวัฒนพรมงคลลงในเว็บไซต์เฟซบุ้ค ได้แก่ บริการสินเชื่อส่วนบุคคล Best Buy ของบริษัท วัฒนาธนสินทรัพย์ จำกัด (www.facebook.com/bestbuyclub) และ โรงรับจำนำวัฒนา (http://www.facebook.com/wattanapawnshop) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา
แม้จำนวนผู้เข้าชมและกด Like ให้กับหน้าเพจทั้งสองแห่งจะยังมีไม่มากนัก เพราะคนสมุทรสาครให้ความสนใจใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างจริงจังน้อยมาก นอกจากเพื่อความบันเทิงและค้นหาข้อมูล แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกในการประยุกต์ใช้สื่ออินเตอร์เน็ต เฉกเช่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อทำการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้า รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกเฟซบุ้ค ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายอยู่กลายๆ ก็ได้
นอกจากชวพลแล้ว ยังมีร้านอาหารในจังหวัดสมุทรสาครอย่างน้อย 2 ร้าน เริ่มจากร้านแรก กับ “เดอะคอนเทนเนอร์ คาราโอเกะ” (http://www.facebook.com/karaoke.thecontainer) ถ.เอกชัย ซึ่งได้สร้างหน้าเพจเพื่อประชาสัมพันธ์ร้าน และรายการส่งเสริมการขายต่างๆ หลังจากก่อนหน้านี้ได้เปิดโปร์ไฟล์ในเฟซบุ้ค และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี
อีกร้านหนึ่งกับ “ห้องอาหารสรศักดิ์” (http://www.facebook.com/sorasak.home) ของ เฮียช้า-สมพงษ์ จิระพรพงศ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันสามพี่น้องอย่าง เพ็ญสิริ-ชูพงศ์-พรเทพ จิระพรพงศ์ เป็นทั้งผู้จัดการร้านและช่วยดูแลร้าน ได้เปิดหน้าเฟซบุ้คเพื่อแนะนำเมนูของร้าน และกิจกรรมของร้านในช่วงที่ผ่านมา
ข้อดีของการใช้เฟซบุ้คเป็นช่องทางในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็คือ ค่าใช้จ่ายต่ำ การสมัครสมาชิกเฟซบุ้คไม่เสียค่าใช้จ่าย สื่อสารกันได้สองทาง สามารถโพสต์ข้อความหรือรูปภาพให้คนเข้ามาคอมเม้นท์ได้ และสามารถเข้าถึงทั้งทางอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์เฟซบุ้คโดยตรง ผ่านโทรศัพท์มือถือที่มีบราวเซอร์รองรับ GPRS หรือ EDGE และโปรแกรมประยุกต์ (Application) ในโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน
ในปัจจุบันเฟซบุ้คที่นิยมเข้ามาใช้ทำการตลาดและประชาสัมพันธ์มีอยู่สองรูปแบบ คือ โปร์ไฟล์ (Profile) ที่สามารถรองรับเพื่อนเข้าร่วมกับเราได้ 5,000 คน และต้องแอดคนที่เราจะติดต่อหรือรับแอดเพื่อขอเป็นเพื่อน กับเพจ (Page) ที่สามารถรับสมาชิกได้ไม่จำกัด สมาชิกเฟซบุ้คเพียงแค่กด Like ก็ถือว่าได้มีส่วนร่วมกับเพจนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นจากผู้ก่อตั้งเว็บไซต์สาครออนไลน์ “กิตตินันท์ นาคทอง” ซึ่งปัจจุบันงานหลักของเขาเป็นผู้ดูแลช่องทางสังคมออนไลน์ให้กับค่ายสื่อแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กล่าวถึงการนำเครือข่ายสังคมออนไลน์มาใช้ในการทำการตลาดไว้อย่างน่าสนใจ
เขาระบุว่า ที่ผ่านมายังมีคนสับสนที่จะใช้เฟซบุ้คในการทำการตลาด เนื่องจากรูปแบบไม่ใช่เพียงแค่เพื่อนหรือคนรู้จักที่รับกันผ่านทางอีเมล แต่ต้องเปิดกว้างไปยังบุคคลภายนอก มีหลายคนเริ่มต้นจากการสร้างโปร์ไฟล์ก่อนที่จะสร้างเพจ ทำให้เวลาเพื่อนเต็มต้องมานับหนึ่งใหม่กับหน้าเพจอีก
“ในส่วนของหน้าเพจจะสามารถวัดได้ว่าคนที่เข้ามากดถูกใจหรือ Like เป็นใครมาจากไหน โดยเข้ามาดูได้ในส่วนของอินไซท์ (Insights) ที่ผ่านมาจากสถิติเฉพาะของสาครออนไลน์พบว่า คนที่เข้ามากดไลค์ (Like) ให้กับสาครออนไลน์ ส่วนใหญ่มีแต่กลุ่มวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 18-24 ปี อันดับรองลงมาคือกลุ่มวัยทำงาน 25-34 ปีซึ่งมีจำนวนสูสีกัน” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์สาครออนไลน์กล่าว
ถึงกระนั้น เขาเห็นว่าในตอนนี้มีผลวิจัยจากบริษัทโฆษณาออกมาแล้วว่า การทำการตลาดบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ กำลังพยายามหาคำตอบว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะถึงจะดูสถิติว่ามีใครเข้ามากดไลค์ แต่ก็ไม่มีข้อมูลอ้างอิงว่าการใช้สื่อเช่นนี้ได้ผลมากน้อยขนาดไหน ยอดขายเพิ่มขึ้นหรือไม่ ไม่มีวัดประสิทธิภาพและผลตอบแทนสำหรับการลงทุน รวมทั้งถูกมองว่าเหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ในเมือง
กิตตินันท์เห็นว่า เฟซบุ้คถือว่าเป็นสื่อเงียบพอๆ กับเว็บไซต์ แต่นับว่ายังดีกว่าตรงที่ใครเล่นเฟซบุ้ค ผ่านไปผ่านมาก็เข้าร่วมแอดเป็นเพื่อน หรือกดไลค์ได้ ซึ่งคนที่ไม่รู้อีเมลมาก่อนเลยอาจจะนานหน่อย แต่สำหรับหน้าเพจจะง่ายเพราะหากรู้ว่าเพื่อนกดถูกใจอย่างที่เราเห็นด้วยเหมือนกัน เขาก็จะกดตาม ที่ผ่านมาสาครออนไลน์ใช้ประโยชน์ตรงนี้ในการกระจายข่าว โดยใช้ระบบ อาร์เอสเอส (RSS) ซึ่งก็ได้ผลดี เพราะเวลามีข่าวใหม่มันจะโผล่ที่เฟซบุ้ค แล้วคนก็เข้ามาอ่านตาม
“เพราะฉะนั้นการโปรโมตจำเป็นที่จะต้องใช้สื่อในรูปแบบอื่นๆ ตัวอย่างเช่น สติ๊กเกอร์ติดกระจกท้ายรถ บอกที่อยู่เว็บไซต์หรือเฟซบุ้คให้เห็นชัด คนจะได้มองเห็นและจดจำ แต่ส่วนใหญ่คนที่เล่นเฟซบุ้คบ่อยๆ จะจดจำน้อยกว่าที่อยู่เว็บไซต์ เพราะมันบอกตรงๆ ว่าเว็บอะไร ด็อทคอม ด็อทเน็ต แต่เฟซบุ้คมันต้องลงท้าย หรือหากไม่ได้ตั้งยูสเซ่อเนม (Username) แนบท้ายเลยก็ลำบาก เพราะต้องให้ค้นหาว่าชื่ออะไรถึงจะเจอ”
นอกจากนี้ กิตตินันท์ยังกล่าวอีกด้วยว่า เฟซบุ้คและทวิตเตอร์ เหมาะสำหรับเป็นส่วนเสริมมากกว่าจะใช้เป็นช่องทางหลัก สำหรับคนที่มีเฟซบุ้คอยู่แล้วใช้ประโยชน์ในการกระจายข่าวสารและเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายได้แสดงความคิดเห็น โดยอาจจะใช้ควบคู่กับเว็บไซต์ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าร้านของเราก็ได้ เพราะคนที่ไม่มีเฟซบุ้คมาก่อนเลยก็ไม่สามารถเข้าร่วมในหน้าเพจของเรา
“เทรนด์ของเครือข่ายสังคมออนไลน์ใหม่ๆ เปลี่ยนไปเร็วมาก หากวันใดคนหันมานิยมเล่นอย่างอื่น ก็เพียงแค่เปลี่ยนเครื่องมือ เปลี่ยนโค้ตเสียใหม่ ส่วนเว็บไซต์ก็ยังอยู่เหมือนเดิม เข้าได้ผ่านช่องทางเดิม ที่น่าเป็นห่วงอย่างหนึ่งก็คือ ในอนาคตข้างหน้าจะมีเครือข่ายสังคมออนไลน์แบบไหนเข้ามาอีก สมัยก่อนเรามีไฮไฟว์ คนก็นิยมเล่น พอมีเฟซบุ้คและทวิตเตอร์ ไฮไฟว์ก็เชยในทันที แม้แต่นักการตลาดที่รับทำโฆษณาให้ไฮไฟว์ก็เจ็บตัว” กิตตินันท์กล่าว
เขากล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า บริษัทใหญ่ๆ ที่ใช้เฟซบุ้คหรือทวิตเตอร์ทำการตลาด เขาประสบความสำเร็จมีคนแอดเป็นหมื่นๆ ก็เพราะเขาเป็นตลาดใหญ่ คนรู้จักทั่วประเทศ มีลูกค้าหลากหลาย กิจกรรมทางการตลาดเขาดี แล้วก็กล้าจ้างพนักงานทำทีมประชาสัมพันธ์โดยเฉพาะ เมื่อเทียบกับเราซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กๆ เป็นที่รู้จักเฉพาะในจังหวัด ของเขาแค่ใส่โค้ตลงในเว็บไซต์ก็มีคนเข้าเว็บนั้นตามกันอยู่แล้ว แต่ของเราถ้าจะให้เฟซบุ้คออนไลน์แบบเดี่ยวๆ ถ้ามีเพื่อนน้อยก็คงลำบาก.