จากปากผู้ว่าฯ “ยั่งยืน” แน่หรือ? ปริศนา “เกษตร-อุตสาหกรรม” ไปด้วยกันได้?

นโยบายที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร “จุลภัทร แสงจันทร์” มอบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 3 อำเภอด้วยประโยคที่ว่า “เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอยู่ได้อย่างยั่งยืน” โดยเห็นว่าสมุทรสาครจะเป็นแห่งแรกของโลกนั้น สร้างความฉงนส่งสัยเมื่อได้ยินได้ฟัง พร้อมกับคำถามที่ว่า ที่แล้วจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?

“เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอยู่ได้อย่างยั่งยืน” ในความหมายของผู้ว่าฯ จุลภัทรก็คือ จะเน้นการเป็นครัวของโลกด้านอาหารทะเลและการเกษตร การเป็นเมืองอุตสาหกรรมในสังคมสีเขียว การพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นเมืองน่าอยู่ และการเป็นเมืองแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ ฟังแล้วก็ดูดีมีเหตุผล

อันที่จริงคำว่า “ครัวของโลก” ไม่ใช่เรื่องใหม่ในบ้านเราแต่อย่างใด หากแต่คนที่ผุดไอเดียขึ้นมานี้ เกิดขึ้นในยุคของผู้ว่าฯ ที่ชื่อ “สมบูรณ์ งามลักษณ์” ในช่วงปี 2548 อันเนื่องมาจากเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเล รวมทั้งพืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะมีโรงงานผลิตอาหารจำนวนมาก

แต่ในบางครั้ง การเป็นครัวของโลกในจังหวัดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด ในช่วงที่ผ่านมาพบปัญหากุ้งจากตลาดค้าสัตว์น้ำชื่อดังไม่สุขลักษณะ รวมทั้งปัญหาการใช้แรงงานเด็กที่ต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเฝ้าจับตามอง

ไม่นับรวมปัญหาสำคัญที่คนในจังหวัดสมุทรสาครกำลังประสบปัญหาก็คือ “คุณภาพชีวิต” ที่มีแนวโน้มว่าจะย่ำแย่ลง จากปัญหาสังคม อาชญากรรม แรงงานต่างด้าว และสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอากาศและแหล่งน้ำเป็นพิษ

หากได้วิเคราะห์ในแต่ละแนวทางที่ผู้ว่าฯ จุลภัทรกำหนดเป็นนโยบาย อย่างแรกคือ การเป็นครัวของโลกด้านอาหารทะเลและการเกษตร ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าจังหวัดสมุทรสาครมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ อันเนื่องมาจากภาคการผลิตหลักคือ ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมประมง

จังหวัดสมุทรสาคร มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดจำนวน 4,412 แห่ง เงินลงทุน 360,466 ล้านบาท ลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 367,841 คน โรงงานอุตสาหกรรมที่ขออนุญาตประกอบการมากได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมโลหะและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมสิ่งทอ

นอกจากนี้ จังหวัดสมุทรสาคร มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 712,000 ล้านบาท (ข้อมูลในปี 2549) เนื่องจากเป็นแหล่งที่ตั้งโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋องเพื่อการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ รวมทั้งโรงงานแปรรูปสินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง เพื่อการส่งออก

ในส่วนของการเกษตร แม้พื้นที่ทางการเกษตรจะมีอยู่เพียงแค่พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนด้านทิศตะวันตก ซึ่งก็คือพื้นที่ อ.บ้านแพ้ว และ อ.กระทุ่มแบน แต่พื้นที่ทางการเกษตรในจังหวัดที่มีมากถึง 88,172.5 ไร่ จัดได้ว่าเป็นแหล่งปลูกไม้ผลและพืชผักนานาชนิด

นอกจากนี้ยังมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับโดยเฉพาะกล้วยไม้ ซึ่งมีการพัฒนาหลากหลายสายพันธุ์ที่สวยงาม และส่งออกไปยังต่างประเทศจนเป็นที่ยอมรับ และนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญระดับประเทศ ซึ่งพื้นที่เพาะเลี้ยงกล้วยไม้ของจังหวัดสมุทรสาครเป็นที่สองรองจากกรุงเทพมหานคร

แม้การเป็นครัวของโลกจะมีความโดดเด่น แต่สิ่งที่ฟังแล้วดูจะขัดหูขัดตากับความเป็นจริงก็คือ อุตสาหกรรมในสังคมสีเขียว และการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นเมืองน่าอยู่ ซึ่งหากมองในภาพความเป็นจริง จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมกับพื้นที่สีเขียวกลับสวนทางกันอย่างแรง

อาจกล่าวได้ว่า สมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาเร็วมาก เนื่องจากเป็นจังหวัดที่รองรับความเจริญและการขยายตัวจากกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมและชุมชนมีอัตราการขยายตัวที่สูงมาก มีการอพยพย้ายถิ่นของประชากรจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาประกอบอาชีพเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดปัญหาด้านมลภาวะต่างๆ ทวีความรุนแรงขึ้น จนเกือบถึงขั้นวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะกลิ่นจากโรงงานอาหารสัตว์ และโรงงานปลาป่นในพื้นที่ อ.เมืองฯ รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอในพื้นที่กระทุ่มแบน และอ้อมน้อย

รวมทั้งปัญหาน้ำเน่าเสีย เส้นเลือดใหญ่ของชาวสมุทรสาคร ซึ่งก็คือน้ำในแม่น้ำท่าจีน ปัจจุบันมีค่า BOD เกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนด มีสารปนเปื้อนของโลหะหนัก ได้แก่ สารตะกั่ว สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 3 เท่า และยังมีแบคทีเรียเกินมาตรฐาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ถือว่าเป็นพื้นที่มีปัญหาวิกฤตขั้นรุนแรง แม้จะมีโครงการบำบัดน้ำเสียรวมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 61 ตารางกิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินโครงการ 26 ปี แต่ก็เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ปัญหามลภาวะทางอากาศและน้ำเน่าเสีย นอกจากจะเกิดขึ้นในพื้นที่ อ.เมืองฯ และ อ.กระทุ่มแบนแล้ว ยังลุกลามบานปลายไปถึงพื้นที่ทางการเกษตรในเขต อ.เมืองฯ และ อ.บ้านแพ้ว อันเนื่องมาจากมีโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งลักลอบปล่อยน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรจำนวนมาก

ตัวอย่างในพื้นที่ ต.บ้านเกาะ ต.ท่าทราย ต.บางกระเจ้า และ ต.ชัยมงคล น้ำในคลองปากบ่อ และคลองวัดอ้อมโรงหีบ ถูกโรงงานย้อมผ้าในพื้นที่ปล่อยน้ำเสีย กระทบเรือกสวนไร่นาจำนวนมาก แม้ร้องเรียนทางจังหวัดมาหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้ผล สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานแบบขอไปที ไม่มีมาตรการที่เข้มงวดจริงจัง

สำหรับการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นเมืองน่าอยู่ ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยไม่หายว่า จะทำให้น่าอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อปัญหามลพิษยังแก้ไขอะไรไม่ได้ รวมทั้งผังเมืองจังหวัดสมุทรสาครที่มีข้อจำกัด และประชากรที่มีความหลากหลาย

รวมทั้งสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยคดีอาชญากรรม การเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งความรับผิดชอบที่ขาดหายของพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแรงงานต่างด้าว การขาดแคลนน้ำประปา ปัญหายาเสพติดที่กำลังระบาด ปัญหาโรคเอดส์ในหมู่ผู้ใช้แรงงาน ฯลฯ

การแก้ปัญหาสารพัดในจังหวัดนี้ แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีหลายโครงการ แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ระเบียบหรือกฎหมายอย่างเคร่งครัดจริงจังหรือไม่ หรือว่าในที่สุดก็เป็นเพียงแค่ไฟไหม้ฟาง

คำพูดที่ว่า “เกษตกรรมและอุตสาหกรรมอยู่ได้อย่างยั่งยืน” จากปากของผู้ว่าฯ จุลภัทร จึงมีนัยยะที่ว่า เป้าหมายมีไว้เพื่อทำให้ไได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ หรือสุดท้ายจะกลายเป็นวาทกรรมที่สวยหรูเพื่อสร้างแรงจูงใจในด้านค่านิยม ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าจะแก้ไข หรือจะซุกไว้ใต้พรมเพียงแค่นั้น?



1 ความคิดเห็น เรื่อง “จากปากผู้ว่าฯ “ยั่งยืน” แน่หรือ? ปริศนา “เกษตร-อุตสาหกรรม” ไปด้วยกันได้?”

  1. KTN กล่าวว่า:

    ธ.ค. 05, 10 at 1:55 pm

    ทดสอบ


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง