‘อหิวาห์’ ระบาดชิมิ? อย่าหยุดเพียงแค่แก้ข่าว ‘มาตรการเชิงรุก’ ต้องพร้อม!
เป็นที่พูดถึงและแตกตื่นกันทั้งเมือง สำหรับกระแสข่าวการแพร่ระบาดของ “อหิวาตกโรค” โรคระบบทางเดินอาหารที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งลือกันว่าเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ขณะเดียวกันทางจังหวัดก็ออกโรงชี้แจงระบุว่าเป็นเพียงท้องร่วงรุนแรงธรรมดาเท่านั้น
เมื่อความที่ได้ยินได้ฟังออกมาคนละด้าน แน่นอนว่านอกจากจะสร้างความสับสนแก่ประชาชนในพื้นที่ จนสร้างความไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ จังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมอาหารทะเล จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นครัวของโลก และส่วนใหญ่จะใช้แรงงานต่างด้าวชาวพม่าเป็นหลัก ก็จะส่งผลเสียหายเพราะผู้บริโภคไม่มั่นใจในความสะอาด แม้โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะผลิตในระบบปิดก็ตาม
ไม่นับรวมเทศกาลอาหารทะเลภายใต้ชื่อ “ชมนก ดูอ่าว ชิมปลาทูสาว ที่ท่าฉลอม ครั้งที่ 3” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายนนี้ ที่วัดช่องลม ต.ท่าฉลอม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร
แม้จะไม่ใช่พื้นที่ซึ่งลือกันว่าโรคอหิวาห์ระบาดเพราะอยู่คนละฝั่งแม่น้ำท่าจีน แต่ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการเลือกชิมและเลือกซื้อเมนูปลาทูและอาหารทะเล เนื่องจากก่อนกระแสข่าวที่เกิดขึ้นมีการคาดการณ์กันว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้าชมงานเป็นจำนวนมาก
กระแสข่าว “อหิวาห์” ระบาดเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน 2553 ขณะนั้นมีข่าวลงในหน้าหนังสือพิมพ์ออกมาว่า เกิดโรคอหิวาตกระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ย่านชุมชน ต.บางหญ้าแพรก ต.ท่าจีน และ ต.โกรกกราก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร
ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่า สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครได้เร่งออกแจ้งเตือน พร้อมประกาศอันตรายสุ่มเสี่ยงก่อนลงควบคุม เพื่อป้องกันการติดเชื้อแพร่ระบาดในวงกว้าง และเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่นเพื่อหามาตรการป้องกัน
นอกจากนี้ในบางชุมชน เฉกเช่นชุมชนท่าจีน กำนันตำบลท่าจีนนำโดย “สุมล แพรกอุดม” ก็มีการตื่นตัว โดยได้ชักชวนชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกันนำน้ำยา ไม้กวาด และผงซักฟอก ทำความสะอาดแหล่งจับจ่ายซื้อของแรงงานต่างด้าวชาวพม่า
กำนันสุมลเปิดเผยว่า หลังได้รับแจ้งมีโรคระบาดเกิดขึ้น ได้เร่งประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนในตำบลท่าจีน ให้รักษาความสะอาดโดยเฉพาะล้างมือ นอกจากนี้ยังได้ประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเทศบาลตำบลท่าจีน เพื่อเก็บตัวอย่างอาหารไปตรวจหาเชื้อที่คาดว่าจะเป็นพาหะนำโรคแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังจากกระแสข่าวโรคอหิวาห์ระบาด แพร่สะพัดออกไป รองผู้ว่าฯ สมุทรสาคร “อภิชาติ โตดิลกเวชช์” พร้อมด้วยสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร “นพ.ชัยรัตน์ เวชพานิช” ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากการสัมมนาที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ได้เปิดห้องประชุมศาลากลางจังหวัด
ทั้งสองแถลงข่าวยืนยันว่า จากการตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์กับสำนักงานสาธารณสุขพบว่า โรงพยาบาลได้พบผู้ป่วยด้วย “โรคอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง” เท่านั้น และขอร้องให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวลือเรื่องโรคอหิวาห์ระบาด
นอกจากนี้ ยังได้เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์กับสำนักงานสาธารณสุขพบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง 13 ราย เสียชีวิต 2 ราย เป็นชาวไทยทั้งหมด
หนึ่งรายเป็นชายอายุประมาณ 32 ปี สาเหตุเกิดจากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) และมีภาวะโรคแทรกซ้อน อีกหนึ่งรายเป็นเด็กชายอายุ 1 ปี 10 เดือน มีอาการอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง เสียน้ำมากจนเสียชีวิต
ตามเกณฑ์ของกรมควบคุมโรคจะพบผู้ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง 1,000 รายต่อแสนประชากร และจากสถิติการเกิดโรคของจังหวัดสมุทรสาครพบผู้ป่วยเพียง 13 รายต่อประชากรในจังหวัด 470,000 คน คิดเป็น 2.98% ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์
ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุข “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ก็ออกมาเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการเกิดโรคอุจจาระร่วงขั้นรุนแรง และเป็นการเกิดเฉพาะจุด เนื่องจากท่อน้ำทิ้งในแฟลตแห่งหนึ่งเกิดแตกชำรุด ทำให้น้ำจากท่อน้ำทิ้งไปปนเปื้อนกับน้ำที่ใช้ดื่ม ซึ่งสาธารณสุขจังหวัดยืนยันว่า สามารถควบคุมได้แล้ว
แม้ทางจังหวัดจะออกมาให้ความมั่นใจ ถึงขนาดที่ว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดลงพื้นที่ เพื่อควบคุมโรคเป็นที่เรียบร้อยแล้วใน ต.ท่าจีน และ ต.บางหญ้าแพรก รวมทั้งเฝ้าดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ ต.โคกขาม แต่ดูเหมือนว่าเป็นการแก้ไขปัญหาหลังข่าวลือแบบไฟไหม้ฟางเกิดขึ้น
เพราะอันที่จริง เมื่อมีกระแสข่าวลือเกิดขึ้น สาธารณสุขจังหวัดก็ต้องออกมาตั้งรับ โดยเฉพาะการแจ้งให้ประชาชนเฝ้าระวังและสังเกตอาการ รวมทั้งให้ความรู้การป้องกันโรคอหิวาห์อย่างถูกวิธีควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ออกมาปฏิเสธโดยที่ไม่แนะนำอะไรแก่ประชาชน
การรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัว และระมัดระวังโรคอหิวาห์ ไม่ใช่วิธีที่ยากเย็นอะไรเลย เมื่อเทียบกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ H1 N1 ที่วิธีการป้องกันมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะการรณรงค์ล้างมือ แต่ก็คงไม่คิดจะทำหรือปฏิบัติให้เห็นเพราะเป็นเรื่องยุ่งยาก
นอกจากนี้ อาจจะด้วยเหตุบังเอิญที่ นพ.ชัยรัตน์ เดินทางไปสัมมนาถึงต่างจังหวัด ในช่วงที่ข่าวลือกำลังแพร่สะพัด เมื่อกลายเป็นข่าวฮือฮาขึ้นมา สาธารณสุขจังหวัดก็ควรที่จะมีบทบาทมากกว่าแค่แถลงข่าวกับรองผู้ว่าฯ หรือให้ลูกน้องโทรศัพท์ไปแก้ข่าวตามสื่อมวลชนหัวต่างๆ
เพราะข้ออ้างที่ว่า ท่อน้ำทิ้งในแฟลตแตกซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเพียงจุดเดียว แต่ข่าวลือสะพัดกันถึงสาม-สี่ตำบล แถมลามไปถึงคนละฝั่งแม่น้ำท่าจีน ได้แก่ ต.ท่าจีน ต.บางหญ้าแพรก ต.โกรกกราก และ ต.โคกขาม ก็นับว่าเป็นการแพร่ระบาดที่ไม่ธรรมดาอยู่แล้ว
ในความเป็นจริง หากได้ลงลึกถึงการใช้ชีวิตของแรงงานต่างด้าว พบว่าส่วนมาก ยังมีปัญหาในเรื่องของการอยู่การกินที่ไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะแหล่งที่พักอาศัยที่ยังมีภาพติดลบเรื่องความสะอาด อีกทั้งโรคที่แรงงานต่างด้าวเป็นกันมากที่สุด คือโรคอุจจาระร่วงร้ายแรง
ผลการสรุปรายงานการเฝ้าระวังโรคปี 2551 ของ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2551 โรคที่ป่วยในแรงงานข้ามชาติ ประกอบด้วย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 12,382 ราย
รองลงมาคือมาลาเรีย 7,903 ราย ไข้ไม่ทราบสาเหตุ 3,141 ราย นอกจากนี้ โรคที่ใกล้เคียงกับอุจจาระร่วงเฉียบพลันคืออาหารเป็นพิษ มีเพียง 958 ราย ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 7 ต่ำกว่ากันหลายเท่าตัว
ล่าสุด จากข้อมูลรายงานโรคเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาเร่งด่วนประจำสัปดาห์ที่ 43 ของปี 2553 พบว่า ณ วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2553 อหิวาตกโรคมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 ถึง 20 เท่า
และพบว่า 10 จังหวัดแรกมีผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ ปัตตานี 812 ราย ตาก 254 ราย ขอนแก่น 140 ราย นครราชสีมา 126 ราย มหาสารคาม 108 ราย ตราด 96 ราย ระยอง 61 ราย กาฬสินธุ์ 36 ราย กรุงเทพฯ 29 ราย และสุราษฎร์ธานี 21 ราย
นอกจากนี้ ในรอบสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 24-30 ตุลาคม 2553 พบผู้ป่วยเพิ่ม 15 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ 2 ราย นนทบุรี 1 ราย สมุทรสาคร 6 ราย เสียชีวิต 1 ราย ปัตตานี 2 ราย ขอนแก่น 3 ราย
เพราะฉะนั้น การที่ทางจังหวัดออกมากล่าวกับประชาชนว่า ไม่มีโรคอหิวาห์แพร่ระบาดในจังหวัดสมุทรสาคร กับข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ที่พบผู้ป่วยโรคอหิวาห์ 6 ราย ซึ่งแม้จำนวนจะน้อยแต่ก็พบว่ามีอยู่จริง ข้อมูลจึงดูสวนทางและขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง
แน่นอนว่า ทางจังหวัดคงลำบากใจที่จะตื่นตัวต่อการระบาดของโรคอหิวาห์ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เกรงว่าจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของจังหวัด และจะส่งผลกระทบอุตสาหกรรมอาหารในจังหวัด แต่อย่าลืมว่าตราบใดที่มีควัน ที่นั่นย่อมมีไฟ
หากคราใดยังรักษาหน้าด้วยการคิดแต่เพียงว่า “ไม่เป็นไร” โดยไม่สนใจที่จะให้ประชาชนได้ปกป้องตัวเอง โดยเฉพาะการปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ และสร้างนิสัยในการดูแลสุขภาพ เมื่อมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนยากที่จะปกปิด การรณรงค์ในช่วงที่ต้องออกมาควบคุมโรคอาจเป็นเรื่องที่สายเกินแก้.
• • •
ปลอดโรคอหิวาห์ เริ่มต้นได้จากกินร้อน-ล้างมือ
ข้อมูลจาก กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อหิวาตกโรค เป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เนื่องจากติดต่อโดยการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ วิบริโอ คอเลอเร (Vibrio Cholerae) ไบโอทัยป์ เอลเทอร์ หรือคลาสซิเคิล
เชื้อแบคทีเรียตัวนี้จะอยู่ในอุจจาระ หรือผู้ที่เป็นพาหะ แล้วแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนในอาหาร และน้ำดื่ม โดยมีแมลงวันและมือของผู้ป่วยเป็นพาหะนำโรค
สำหรับอาการของโรค มีได้ตั้งแต่ไม่มีอาการจนถึงอาการรุนแรง โดยผู้ที่ไม่มีอาการ แต่เป็นแหล่งสะสมและแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น เรียกว่าเป็นพวกพาหะ (ซึ่งแน่นอนว่า เราย่อมมองไม่เห็น และอาจจะได้รับเชื้อโดยไม่รู้ตัว)
ส่วนผู้ที่มีอาการอย่างอ่อน จะเริ่มจากปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลววันละหลายครั้ง อาการคล้ายโรคอุจจาระร่วงหรือท้องร่วง ซึ่งอาจหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน แต่ถ้าไม่หาย จะเข้าสู่อาการรุนแรง โดยจะปวดท้องอย่างรุนแรง เมื่อถ่ายอุจจาระจะเป็นน้ำสีขาวขุ่น คล้ายน้ำซาวข้าว มีกลิ่นเหม็นคาว นอกจากนี้อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน
ถ้าไม่รักษา การถ่ายบ่อยทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ เกิดอาการอ่อนเพลีย ปากแห้ง กระหายน้ำ กระสับกระส่าย ตาสึกโหล มีไข้ ชีพจรเต้นเบา และเสียชีวิตได้
สำหรับการป้องกันมีหลายวิธี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิธีที่ง่ายและทำได้จนเป็นนิสัย เช่น
• กินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกด้วยความร้อน และปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม สำหรับอาหารค้างมื้อก่อนกินควรอุ่นให้เดือดทั่วถึงก่อนทุกครั้ง ไม่ควรกินอาหารดิบๆ สุกๆ
อาหารทะเล เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ ควรดึงเส้นใยไซฟอน (Siphon : อวัยวะที่ใช้กรองน้ำหาอาหารของหอย) ออก และทำความสะอาดก่อนปรุงทุกครั้ง เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค
• ล้างผักสด ผลไม้ ให้สะอาดก่อนนำมากิน
• ดื่มน้ำที่สะอาด เช่น น้ำต้มสุก น้ำดื่มบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน และเลือกซื้อน้ำแข็งรับประทานที่ถูกหลักอนามัย
• ภาชนะที่ใช้ในการกินและดื่ม ต้องทำความสะอาดและเก็บไว้ในที่มิดชิดไม่ให้แมลงวันตอม
• ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ก่อนปรุงอาหาร ก่อนกินอาหาร ก่อนใช้มือหยิบอาหารป้อนเด็ก และหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วมทุกครั้ง
• ใช้ฝาชีครอบอาหารหรือนำใส่ตู้กับข้าว ป้องกันแมลงวันตอมอาหาร
• ถ่ายอุจจาระในห้องส้วม
• ใช้ฝาปิดถังขยะ และกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน
หากมีอาการป่วยคล้ายกับโรคดังกล่าว การดูแลผู้ป่วยสามารถทำได้โดยให้กิน “สารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส” สูตรขององค์การเภสัชกรรม หรือ องค์การอนามัยโลก โดยให้กินปริมาณเท่ากับปริมาณอุจจาระที่ถ่ายออกมาแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่
หากกินสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ไปแล้ว ภายใน 8-12 ชั่วโมง หรือให้การดูแลเองที่บ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้น เช่น ยังคงถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก อาเจียนบ่อย กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ มีไข้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ อ่อนเพลียมาก ตาสึกโหล ต้องรีบไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลทันที
นอกจากนี้ ยังต้องให้ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และล้างมือให้สะอาด ด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังขับถ่าย หากมีอาเจียนให้กำจัดอาเจียนของผู้ป่วย โดยเททิ้งลงในส้วม ราดน้ำให้สะอาด แล้วใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราดซ้ำ รวมทั้งรักษาความสะอาด สิ่งของ เครื่องใช้ของผู้ป่วย รวมทั้งซักเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัวของผู้ป่วยให้สะอาด และนำไปตากแดด
ส่วนผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยหมั่นล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ.