ฝันกลางวัน ‘มหานครสมุทรสาคร’

กระแสการผลักดันให้แต่ละจังหวัดในประเทศไทย แปรสภาพเป็นเขตปกครองพิเศษ ด้วยข้ออ้างที่ว่าต้องการให้แต่ละจังหวัดได้มีโอกาสจัดการตนเองนั้น กำลังเป็นที่จับตามองอย่างเงียบๆ โดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นถิ่นจุดกระแส และหากทำสำเร็จจะมีอีก 45 จังหวัดที่พร้อมจะแปรสภาพเป็นเขตปกครองพิเศษตามไปกับเขาบ้าง

เป็นที่ทราบกันดีว่าเขตปกครองพิเศษในประเทศไทยมีอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเทียบเท่าจังหวัด กับเมืองพัทยาซึ่งเทียบเท่าเทศบาลนคร โดยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นตัวรองรับขอบเขตของอำนาจและหน้าที่ เช่น พ.ร.บ.พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา

เขตปกครองพิเศษถูกนำมาพูดถึงอย่างน้อย 4 กรณี ได้แก่ กรณีการจัดตั้งสุวรรณภูมิมหานคร ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตการปกครองพิเศษ ที่มีรูปแบบคณะกรรมการอิสระในการดูแลบริหารเมือง โดยจะแยกพื้นที่เขตลาดกระบังและเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร กับ อ.บางพลี และ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ แยกออกมาเป็นจังหวัดใหม่เข้าด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งสุวรรณภูมิมหานครในเวลานั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม กระทั่งเกิดวิกฤตการเมืองในปี 2549 ทำให้เรื่องสุวรรณภูมิมหานครเงียบหายไป ทั้งๆ ที่ได้กำหนดร่าง พ.ร.บ.สุวรรณภูมิมหานครเอาไว้แล้ว แต่เมื่อปี 2550 คณะรัฐมนตรีได้ระงับการนำเสนอกฎหมายดังกล่าว เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครอง กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนใน จ.สมุทรปราการ และเกิดการคัดค้านเรื่องเขตการปกครองกับกรุงเทพมหานคร

อีกกรณีหนึ่ง คือ การผลักดันเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “มหานครแม่สอด” โดยใช้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองแม่สอด เทศบาลตำบลท่าสายลวด และ อบต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นเขตการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยคาดหวังที่จะให้แม่สอดเป็นมหานครฝั่งตะวันตก ชายแดนไทย-พม่า โดยก่อนหน้านี้ได้มีแนวคิดที่จะยกฐานะ 5 อำเภอชายแดนฝั่งตะวันตกของจังหวัดตากขึ้นเป็นจังหวัดใหม่ แต่ไม่เป็นผล

การจัดตั้งมหานครแม่สอดดังกล่าว เป็นที่คาดหวังของผู้บริหารท้องถิ่น ที่จะได้รับการสนับสนุนงบจากส่วนกลางปีละนับ 1,000 ล้านบาท รวมกับภาษีที่จะเก็บได้จากท้องถิ่น เช่น ภาษีสินค้าส่งออกชายแดนไทย-พม่า ภาษีแรงงานต่างด้าว และภาษีทะเบียนรถ รวมกันหลายร้อยหลายบาท โดยการเป็นรูปแบบเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ ผู้บริหารสามารถนำภาษีที่จัดเก็บได้มาพัฒนาท้องถิ่นได้เลย โดยไม่ต้องส่งให้ส่วนกลาง

กรณีต่อมา คือ การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษภายใต้ชื่อ “นครปัตตานี” ซึ่งเจ้าของไอเดียคือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้นำเสนอในช่วงดำรงตำแหน่งประธานพรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่าเพื่อยุติความรุนแรง และสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกรุงเทพมหานคร โดยจะมีการออกกฎหมายให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อทางศาสนา แต่ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอการจัดตั้งนครปัตตานีของ พล.อ.ชวลิต ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่เกมการเมืองเพื่อโยนหินถามทางโดยคาดหวังที่จะให้พรรคเพื่อไทยจะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น แต่หลังจากช่วงเลือกตั้ง เรื่องนี้ก็เงียบไปชั่วครู่ กระทั่ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กลับมาเสนอแนวคิดเขตปกครองพิเศษอีกครั้ง

กรณีล่าสุดที่กำลังถูกหยิบยกเป็นประเด็นขึ้นมาก็คือ การรณรงค์สวมเสื้อสีส้มของคนเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง ที่นำโดย ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประกาศผลักดันแคมเปญ “เชียงใหม่จัดการตนเอง” ด้วยการเสนอให้เสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร โดยอ้างว่าหากเชียงใหม่ทำได้จริง อีก 45 จังหวัดก็พร้อมที่จะเดินหน้าตามกันไปด้วย

โดยร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครที่กำลังผลักดันอยู่นั้น มีสาระมุ่งยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ให้เหลือเฉพาะราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่น เข้ามากำหนด โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะถูกยุบทิ้ง ในขณะที่ระดับล่างต้องปรับให้อยู่ในรูปเทศบาลทั้งหมด และมีโครงสร้างใหม่ คือผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครที่มาจากการเลือกตั้ง สภาเชียงใหม่มหานคร และสภาพลเมือง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนใช้อำนาจประชาชนโดยตรง

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวเชียงใหม่มหานครก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในพื้นที่ไม่น้อยไปกว่ากัน โดยนักวิชาการฝ่ายกลุ่มคนเสื้อแดงอย่าง ธเนศวร์ เจริญเมือง ตำหนิว่าการนำเสื้อสีส้มาสวมให้แตกต่างจากสีแดง นำไปสู่การแตกแยกของธงคนเสื้อแดง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่าแนวคิดเชียงใหม่มหานคร เหมือนเป็นการยกอำนาจให้กลุ่มการเมืองบางกลุ่มครองจังหวัดเชียงใหม่หรือไม่ เนื่องจากเป็นฐานเสียงของนักการเมืองระดับชาติคนสำคัญ

หากมองย้อนมาถึงสมุทรสาคร จังหวัดเล็กๆ ที่อยู่ติดชายขอบกรุงเทพฯ แม้จะไม่มีกระแสว่าคนในพื้นที่อยากจะยกฐานะจากจังหวัดเป็นมหานครใจจะขาดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น หากแต่เมื่อเป็นจังหวัดที่มีความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพีเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ รวมทั้งความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวคิดในการยกฐานะเป็นเขตปกครองพิเศษอาจเกิดขึ้นเมื่อมีท้องถิ่นบางแห่งยกฐานะสำเร็จก็เป็นได้

วัตถุประสงค์หลักๆ ในการยกฐานะเป็นเขตปกครองพิเศษที่ถูกมองในเบื้องต้นก็คือ การจัดเก็บภาษี เพราะที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรสาครมีนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานตั้งอยู่จำนวนนับพันโรงงาน ซึ่งแต่ละปีได้ชำระภาษีไปยังส่วนกลางเป็นจำนวนมาก แต่งบประมาณที่กลับคืนสู่จังหวัดกลับได้น้อย เมื่อเทียบกับบางจังหวัดที่ชำระภาษีให้กับประเทศเป็นจำนวนไม่มาก แต่งบประมาณที่ไหลมาสู่ท้องถิ่นกลับมากกว่าภาษีที่ได้จ่ายให้กับประเทศ

นอกจากนี้ ประเด็นการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากประชาชนในท้องถิ่นสามารถเลือกผู้ว่าราชการได้เอง และกำหนดอนาคตของจังหวัดได้เอง ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรสาครเป็นที่โจษจันว่าคือสวางคนิวาสของข้าราชการมหาดไทย โดยเฉพาะหากย้อนไปยังผู้ว่าฯ คนก่อนๆ มักจะถูกโยกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งปกครองจังหวัดนี้ก่อนเกษียณ ด้วยวัยที่ไฟใกล้มอดทำให้ดูเหมือนจังหวัดไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดการแบ่งแยกจังหวัดหรือท้องถิ่นให้ยกฐานะเป็นเขตปกครองพิเศษ ยังเป็นสิ่งที่เกิดมแล้วก็ดับไปเหมือนไฟไหม้ฟาง เพราะหากเดินหน้าคงหยุดอยู่แค่ล่ารายชื่อ 1 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย แต่พอเอาเข้าจริงคงเป็นไปได้ยาก เพราะด้วยความที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดเล็กๆ มีประชากรเพียงแค่ 3-4 แสนคนเท่านั้น แต่ต้องแบกรับประชากรแฝงและแรงงานต่างด้าวอีกนับล้านคน การมีส่วนร่วมของคนในจังหวัดจึงเป็นไปได้ยาก

อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ การปกครองในจังหวัดสมุทรสาครไม่ได้หนักหนาสาหัสอะไรจนถึงขั้นต้องขอแบ่งแยกแล้วปกครองตนเองเหมือนจังหวัดอื่น หากมีกลุ่มใดหรือฝ่ายไหนเสนอให้แบ่งแยกเป็นมหานครสมุทรสาครหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็คงกลายเป็นว่ามีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกุมอำนาจทางการเมืองเบ็ดเสร็จเท่านั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดปัญหามีแนวคิดแตกต่างกันระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นที่มีจากนักการเมืองทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติกุมอำนาจ

แนวคิดที่ต้องการให้จังหวัดสมุทรสาครยกฐนะเป็นเขตปกครองพิเศษ แม้จะเป็นเพียงแค่ฝันกลางวันที่ไม่มีใครกล้าคิด แต่ก็น่าคิดหากต้องมองไปถึงอนาคต หากมีพื้นที่ใดถูกแบ่งแยกเป็นเขตปกครองพิเศษจากการผลักดันด้วยการเสนอกฎหมายเป็นผลสำเร็จ แต่การบริหารงานท้องถิ่นจะสำเร็จหรือล้มเหลวไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดหรือระดับการปกครอง หากแต่การบริหารราชการแผ่นดินอย่างไรที่ตอบสนองประชาชนในจังหวัดอย่างพึ่งพอใจแบบถ้วนทั่วเสมอกันต่างหาก



2 ความคิดเห็น เรื่อง “ฝันกลางวัน ‘มหานครสมุทรสาคร’”

  1. 123 กล่าวว่า:

    ก.ค. 18, 12 at 6:02 am

    ประเทศไทยยังไม่พร้อมพอที่จะแบ่งการปกครองตนเอง เพราะว่า
    1.ปัญหาคอรัปชั่นมีทุกระดับ ตั้งแต่ชั้นน้อย จนเจ้าใหญ่นายโต
    2.ปัญหาการเล่นพวกพ้อง
    3.ความรู้ที่ไม่พอเพียงของประชาชน ในการมีส่วนร่วมทั้งในการปกครอง การไม่รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง
    4.ประเทศไทยมีเพียงแค่พื้นที่เล็กๆเมื่อเทียบกับสิ่งที่นักการปกครองไปลอกเลียนแบบมา เช่น อเมริกา ประเทศของเขาคือเกือบทั้งทวีป ไม่จำเป็นต้องปกครองกันตามพื้นที่
    5.ประเทศไทยเองแต่ละจังหวัดไม่สามารถหากินเลี้ยงดูตนเองได้ บางจังหวัดจะยิ่งแย่ลงเพราะว่าทำมาหากินอะไรไม่ได้
    6.ภัยธรรมชาติจามนุษย์มากมายและมีผลสืบเนื่องกันแต่ละจังหวัด ถ้าแบ่งแยกกันก็จะมีแต่คนเห็นแก่ตัวป้องกันจังหวัดตนเองมากกว่าที่เป็น ยิ่งแย่กว่าปีที่แล้วที่น้ำท่วม จังหวัดที่ยังไม่ท่วมก็กันน้ำไม่ให้ไหลลงมา ยิ่งทำให้น้ำท่วมหนักมากขึ้น
    7.ความเอื้อเฟื้อและเอื้ออาทรขาดหายไปจากสังคมไทย
    8.คนดีไม่ได่ดูที่ความดี ดูที่ใครมีเงิน อันนี้ยิ่งแย่ลงไปอีก
    สรุป ควรรวบการปกครองเพื่อความมั่นคงและเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกคนในประเทศไทยแห่งนี้

  2. นัส กล่าวว่า:

    ก.พ. 19, 13 at 4:12 pm

    จากความคิดเห็น 123 ถ้าอย่างนั้นการพัฒนาก็คงๆม่เกิดได้แต่ปล่อยไปแล้วรอว่าเมื่อไหร่ไอปัญหาพวกนี้จะหมดไป ถ้าประชาชนไม่ปฎิรูประบบาชการ มันก็คงเปนแบบนี้ต่อไป การปกครองส่วนภูมิภาคในปัจจุบันค่อนข้างจะช้าและล้าหลัง ปละตรวจสอบยาก ถ้ามีการปกครองท้องถิ่นคนในทเองถิ่นจะตรวจสอบกันเองง่ายกว่าอีกทั้งยังกำหนดนโยบายเองได้ด้วยนะครับ


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง