‘อองซาน ซูจี เยือนสมุทรสาคร’
การเดินทางออกนอกมาตุภูมิครั้งแรกในรอบ 24 ปี ของนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่า ซึ่งได้เลือกประเทศไทยเป็นประเทศแรก เพื่อเข้าร่วมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก (WEF – World Economic Forum on East Asia) ครั้งที่ 21 ที่กรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 30 พ.ค. – 1 มิ.ย. 2555 ที่ผ่านมา โดยการมาเยือนประเทศไทยของนางซูจีครั้งนี้ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเข้าร่วมการประชุมเพียงอย่างเดียว แต่เธอต้องการลงพื้นที่เพื่อพบปะแรงงานและผู้อพยพชาวพม่าในประเทศไทย ที่ จ.สมุทรสาคร และ จ.ตาก ด้วย ก่อนที่จะเดินทางกลับไปที่พม่า และมีกำหนดการเดินทางต่อไปยัง 5 ประเทศในยุโรป ช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
อองซาน ซูจี วัย 66 ปี บุตรีของนายพล อู อองซาน นักปฏิวัติที่ต่อสู้กับสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่นจนนำไปสู่เอกราชของพม่า วีรสตรีผู้เป็นทั้งสัญลักษณ์ของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน และเป็นบุคคลอันเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลทหาร ที่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพลเรือนในระบอบรัฐสภา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2534 ชีวิตส่วนใหญ่ถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านริมทะเลสาบอินยา ในนครย่างกุ้งมาโดยตลอด ในภายหลังจีงได้รับอิสรภาพในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 และได้เดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกดังกล่าว
และนี่คือเหตุการณ์คร่าวๆ ของ “เมซู” เยือนมหาชัย
นางอองซาน ซูจี เดินทางมาถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 21.45 น. ของวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยได้เข้าพักที่โรงแรมแชงกรี-ลา ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก ในหัวข้อ “บทบาทสตรีของอาเซียน” ก่อนจะมีกำหนดการกล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ 1 มิ.ย.
เช้าวันที่ 30 พ.ค. นางซูจี เดินทางออกจากที่พักมุ่งหน้ามายังตลาดกุ้งสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งรวมแรงงานพม่าที่ทำงานในอุตสาหกรรมประมง เพื่อดูวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวพม่า ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นของชาวพม่าที่อยู่ในประเทศไทย แรงงานพม่าบางคนเมื่อทราบข่าวต่างขอนายจ้างหยุดงานเพื่อมาต้อนรับเธอเป็นจำนวนนับพันคน ต่างร่วมกันถือรูปของนางซูจีและนายพลอองซาน ผู้เป็นบิดา ป้ายข้อความภาษาพม่า ช่อดอกไม้ ธงชาติ พร้อมตะโกน “เมซู จาบามาเซ” (ขอให้แม่ซู มีอายุยืนยาว) ร่วมกันด้วยความตื่นเต้น พร้อมๆ กับทีมผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ ต่างทยอยรอรายงานข่าวการมาเยือนของนางซูจีนับร้อยชีวิต
จนเมื่อเวลา 09.15 น. รถบีเอ็มดับเบิ้ลยูสีดำ ที่นางซูจีนั่งมา พร้อมรถตำรวจทางหลวงนำขบวนและผู้ติดตาม ได้เดินทางมาถึงตลาดกุ้งสมุทรสาคร ฝูงชนนับพันต่างกรูเข้าไปล้อมที่รถคันดังกล่าวเพื่อที่จะได้เห็นหน้าของนางซูจีอย่างชัดเจน และตะโกนดีใจกันอย่างกึกก้อง จนขบวนรถไม่สามารถเคลื่อนตัวได้ กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้อารักขาต้องพยายามจัดการกับฝูงชน ก่อนที่จะได้นำขบวนออกไปจากด้านในตลาดกุ้งได้สำเร็จ
ต่อมา นางอองซาน ซู จี ก็ได้ตัดสินใจลงจากรถ เพื่อพบปะกับฝูงชนนับพัน โดยเธอได้โบกมือแสดงการทักทาย รับดอกไม้และจับมือกับผู้คนที่มารอเธอกันตั้งแต่เช้า ซึ่งแรงงานชาวพม่าที่ได้พบเห็นเธอ ต่างรู้สึกดีใจ บางคนถึงกลับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ที่ได้เห็นหน้าของวีรสตรีของชาวพม่าผู้นี้ บางคนกล่าวว่า เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ได้เห็นนางซูจี ทั้งๆ ที่ได้ยินเรื่องราววการต่อสู้ของเธอมาอย่างยาวนาน
จากนั้นในเวลา 10.00 น. นางซูจี เดินทางไปที่ศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ หมู่บ้านมหาชัยวิลล่า ซอย 9 ซึ่งอยู่ห่างจากตลาดกุ้งสมุทรสาครประมาณ 2 กิโลเมตร โดยขบวนรถเคลื่อนผ่านชาวพม่าที่มารอต้อนรับนับพันคน และสื่อมวลชนที่มารอคอยทำข่าวอีกจำนวนมาก โดยมีนายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมให้การต้อนรับด้วย ซึ่งเธอได้พบปะกับตัวแทนของศูนย์การเรียนรู้ฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบปัญหาของแรงงานพม่าในสมุทรสาครและพื้นที่ใกล้เคียง
นางซูจี ได้กล่าวคำปราศรัยบนชั้น 3 ของอาคารกับชาวพม่านับพันว่า เหตุที่เลือกมาที่นี่ เพราะมีแรงงานพม่าเป็นจำนวนมาก ที่นี่เหมือนบ้าน เหมือนพม่า ต้องการมาดูว่าสภาพการทำงาน และความเป็นอยู่ของแรงงานพม่าทุกคนเป็นอย่างไรบ้าง
“ดิฉันขอให้แรงงานพม่ารู้จักการให้เกียรติประเทศไทยและคนไทย อย่าได้สร้างปัญหาให้กับประเทศไทย ต้องทำงานให้ดีๆ เป็นคนดี ถ้ามีอะไรขอให้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในประเทศไทย อยู่เมืองไทยต้องรู้รักษาความสงบภายในบ้านเมืองของคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนขอให้รักประเทศไทยเหมือนกับรักประเทศพม่า และทำงานต้องทำให้เต็มที่ ช่วยกันดูแลเมืองไทยให้ดี และทางแม่ออง ซาน ซูจี จะกำชับให้เจ้าหน้าที่ในเมืองไทยดูแลแรงงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” (ไทยรัฐ 31 พ.ค. 2555)
หลังจากการปราศรัย นางซูจีได้กลับเข้าไปในศูนย์การเรียนรู้ฯ สักพัก จนกระทั่งเดินทางกลับในเวลา 11.15 น.
ถัดจากนั้นอีกหนึ่งวัน (31 พ.ค.) หลังจากเข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เพื่อหารือถึงปัญหาแรงงานพม่าในประเทศไทยเสร็จในช่วงบ่าย นางอองซาน ซู จี ได้เดินทางกลับมาเยือนมหาชัยอีกครั้ง โดยในเวลา 16.40 ได้เยี่ยม ศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า ในครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนับร้อยนายคอยรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก มีการแบ่งพื้นที่ให้ผู้สื่อข่าวเป็นสัดส่วน โดยมวลชนชาวพม่านับพัน มารอเธอตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ หลังจากช่วงเช้าวาน นางซูจี ไม่สามารถมาตามหมายที่ได้กำหนดไว้ได้
การมาเยือนศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าของนางซูจีในครั้งนี้ เข้ามาเพื่อเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์ และรับทราบถึงปัญหาแรงงานพม่า ที่มาขึ้นทะเบียนที่ศูนย์ฯ เป็นไปด้วยความล่าช้าและไม่ทันกาล โดยรัฐบาลไทยมีกำหนดเส้นตายไว้วันที่ 14 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะมีปัญหาแรงงานพม่าตกค้างเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีปัญหานายหน้าเรียกเก็บเงินค่าทำบัตรแรงงาน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหัวหลายพันบาท ในการมาเยือนของนางซูจีครั้งนี้ มีนายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และนายอนุสรณ์ ไกรวัฒนุสสรณ์ ผู้ช่วย รมว.แรงงาน ร่วมให้การต้อนรับและรับทราบปัญหา ก่อนที่จะออกมาปราศรัยต่อแรงงานชาวพม่าที่มารอต้อนรับอยู่ 15 นาที โดยมีเนื้อหาดังนี้
“ทราบว่าแรงงานพม่าจำนวนไม่น้อยถูกนายหน้าเอาเปรียบเวลาไปทำบัตร หรือ พาสปอร์ต ซึ่งเรียกเก็บเงินแพงเกินไป เรื่องนี้ตนรับทราบและจะหาทางพูดคุยกับรัฐบาลไทยให้ช่วยแก้ไข ขอให้แรงงานพม่าตั้งใจและอดทนทำงาน แม่อองซานฯ รู้ดีว่าทุกคนคิดถึงบ้านคิดถึงพม่า แต่ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศยังไม่สงบ ขอให้ทุกคนอยู่ที่นี่ตั้งใจทำงาน เป็นคนดีของประเทศไทย รักประเทศไทย อยู่เมืองไทยอย่างสงบ ทำตัวให้คนไทยเห็นว่าคนพม่าเป็นคนดี แล้วอีก 3 ปีข้างหน้าหากพม่าพัฒนาดีขึ้น เมื่อนั้นทุกคนค่อยกลับบ้าน” (ข่าวสด 1 มิ.ย. 2555)
หลังจากนั้นนางซูจีจึงได้เดินทางกลับ บรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่นของแรงงานชาวพม่าที่ออกมารอคอยการปราศรัยของเธอ
และนี่คือประมวลเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งในสมุทรสาคร เมืองที่มีแรงงานชาวพม่าอาศัยอยู่กว่า 4 แสนคน คอยเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัด ที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสให้นางอองซาน ซู จี ได้เดินทางพบปะ ออกมาพูดจาปราศรัย ให้กำลังใจและความหวังต่อพี่น้องร่วมชาติที่พลัดถิ่นฐานบ้านเกิดมาทำงานที่นี่ และเรียกร้องไปยังรัฐบาลไทย เพื่อช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากที่ต้องทำงานในบ้านเราแบบถูกเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ข่มเหงมาอย่างยาวนาน
• กิตติกร นาคทอง •
อ่านประกอบ : พม่านับหมื่นแห่รับ “อองซาน ซูจี” รับปากไม่ลืม ขอให้แรงงานอดทน