ล้วงลับตับแตก “คูปองพลังงาน”
ความไม่พอใจของชาวบ้านใน จ.สมุทรสาคร ที่ไม่สามารถใช้คูปองมูลค่ารวม 2,000 บาท ที่กระทรวงพลังงานแจกให้ตามโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัยไปแลกซื้อสินค้าได้ นำมาสู่การรวมตัวกันปิดถนนพระราม 2 บริเวณทางแยกต่างระดับสมุทรสาคร แม้ว่าระยะเวลาผ่านไปเกือบ 4 ชั่วโมงสถานการณ์จะคลี่คลาย อันเนื่องมาจากฝ่ายกระทรวงพลังงานรับข้อเสนอ แต่กรณีการใช้คูปองดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งวันต่อมา ชาวบ้านใน จ.พระนครศรีอยุธยารวมตัวกันปิดถนนสายเอเซีย บริเวณทางแยกต่างระดับอยุธยา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหากรณีการใช้คูปองส่วนลด 2,000 บาทจากกระทรวงพลังงานเช่นเดียวกัน ซึ่งพบว่าสินค้าหมด บางคนใช้คูปองซื้อสินค้าไม่ได้ตามที่ต้องการ หรือหากต้องการใช้คูปอง ต้องซื้อสินค้าชนิดนั้นในราคา 10,000 บาทขึ้นไปจึงจะได้ส่วนลด ผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องให้นำคูปองไปแลกเงินสดเพื่อซื้อสินค้า
นอกจากทั้งสองจังหวัดที่เกิดการประท้วงปิดถนน เนื่องจากไม่พอใจโครงการดังกล่าวแล้ว ปัญหาคูปองตามโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ของกระทรวงพลังงานไม่สามารถใช้งานได้ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะความเข้าใจของชาวบ้านที่เห็นว่าใช้แทนเงินสดซื้อสินค้า ปัญหาร้านค้าปิดโดยอ้างว่าสินค้าหมด บางร้านฉวยโอกาสรับซื้อคูปองในราคาที่ต่ำกว่าครึ่ง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถให้คำชี้แจงและแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้
ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีการจัดงานมหกรรมดังกล่าวที่ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติไบเทค บางนาเมื่อวันก่อน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เข้าชมงานว่า สินค้าภายในงานส่วนใหญ่เป็นสินค้าตกรุ่น อีกทั้งราคาแพงกว่าที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งผู้เข้าชมงานรู้สึกเสียเวลา เสียค่าเดินทาง และไม่คุ้มค่า เพราะเครื่องใช้ไฟ้าส่วนใหญ่ให้ส่วนลดเพียง 20% ส่วนยอดการขอรับคูปองของคนกรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนผู้ประสบอุทกภัยมากถึง 118,000 ราย กลับมีเพียง 9,000 คนเท่านั้น
สำหรับโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัยนั้น มีจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ลดราคาพิเศษ เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนในพื้นที่ประสบอุทกภัย และมอบคูปองส่วนลดสินค้าประหยัดพลังงานมูลค่า 2,000 บาท ต่อ 1 ครัวเรือน เพื่อจูงใจให้ประชาชนเลือกใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ที่ติดฉลากเบอร์ 5 ตามกฎกระทรวงพลังงาน ว่าด้วยมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานหรืออุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆ ตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกำหนด
ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาครนั้น ได้รับการประสานงานจากบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) ของนายปัญญา นิรันดร์กุล พิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดัง ซึ่งรับงานจากกระทรวงพลังงานอีกที โดยจัดโครงการนี้พร้อมกันรวม 28 จังหวัด ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทเวิร์คพอยท์เป็นผู้ติดต่อเข้ามา โดยทำหน้าที่ประสานงานร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ และมีสำนักงานพลังงานจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสาครร่วมดำเนินการ
การประชาสัมพันธ์ที่อ่อนเกินไป โดยเฉพาะสื่อโฆษณาแบบกระชั้นชิด และส่วนใหญ่ผูกขาดเฉพาะรายการของบริษัทเวิร์คพอยท์ ประกอบกับช่วงใกล้เข้าสู่เทศกาลปีใหม่ ทำให้ในวันแรกๆ มีผู้ขอรับคูปองที่หน้าศาลากลางจังหวัดน้อยมาก กระทั่งในช่วงวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันหยุดเทศกาลปีใหม่วันสุดท้าย เริ่มมีประชาชนไปขอรับคูปองมากขึ้น จากการบอกเล่าแบบปากต่อปากโดยชาวบ้าน ทำให้หน้าศาลากลางจังหวัดแน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่มาขอรับคูปอง
ประเด็นสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจ กลายเป็นการชุมนุมปิดถนนดังกล่าว คือ ความเข้าใจของชาวบ้านและร้านค้ากับภาครัฐไม่ตรงกัน เนื่องจากเห็นว่าคูปองที่กระทรวงพลังงานนำมาแจกนั้นสามารถใช้แทนเงินสดได้ ประกอบกับมีร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่ง บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์มหาชัยรามา ให้ชาวบ้านที่ถือคูปองซื้อสินค้าภายในร้านแทนเงินสดได้ ทำให้ก่อนหน้านี้มีชาวบ้านบางรายได้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดโดยจ่ายเพียงไม่กี่ร้อยมาแล้ว
จากคำบอกเล่าของผู้ชุมนุมในวันนั้นต่างพูดตรงกันว่า มีชาวบ้านส่วนหนึ่งได้เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทหม้อหุงข้าว พัดลม กระติกน้ำร้อน และเตารีดมาแล้วรวม 2-3 ชิ้น โดยจ่ายเฉพาะส่วนต่างของราคา เมื่อชาวบ้านคนอื่นๆ ทราบข่าวจึงมาขอรับคูปองจำนวนมาก แต่เมื่อจะนำคูปองไปใช้ร้านค้าดังกล่าวกลับปิดร้าน 2 วันอ้างว่าของหมด อีกทั้งร้านที่เข้าร่วมโครงการอื่นๆ กำหนดว่าต้องซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงจึงจะได้ส่วนลด 2,000 บาท ซึ่งผู้ที่มีรายได้น้อยไม่สามารถซื้อได้
เมื่อดูรูปแบบคูปองที่กระทรวงพลังงานนำมาแจก พบว่าเป็นคูปองแบบผนึกรวมกันคล้ายกับคูปองศูนย์อาหาร โดยแบ่งเป็นคูปองมูลค่า 100 บาท และ 500 บาท ซึ่งมีหมายเลขกำกับอยู่ จากการสังเกตหน้าคูปองไม่พบว่ามีเงื่อนไขให้ใช้เป็นส่วนลดแต่ประการใด โดยรายละเอียดและเงื่อนไขการใช้คูปอง ได้แก่ 1. คูปองนี้ออกและเป็นเจ้าของโดยกระทรวงพลังงาน 2. คูปองนี้ไม่สามารถทอนหรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ 3. คูปองนี้ใช้ได้เฉพาะร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น
4. กระทรวงพลังงานขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดและเงื่อนไขในการใช้คูปอง โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และ 5.สามารถใช้คูปองนี้ได้ในระหว่างการจัดงานมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย โดยไม่มีการระบุเงื่อนไขว่า “ใช้เป็นส่วนลด” แต่ประการใด ทำให้ชาวบ้านที่ใช้คูปองและร้านค้าเกิดความเข้าใจผิด และเห็นว่าคูปองนี้คล้ายกับโครงการเช็คช่วยชาติในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ให้ใช้เช็คแทนเงินสดได้ทันที
ในส่วนของร้านค้า แม้ทางโครงการจะมีคำอธิบายถึงการให้ส่วนลดกับสินค้าแต่ละประเภท แต่ร้านค้าส่วนใหญ่กลับเข้าใจไม่ตรงกัน สินค้าบางประเภทไม่เกี่ยวข้องกับที่โครงการกำหนดยังนำมาให้จำหน่ายแก่ผู้ซื้อ บางร้านเพิ่งได้รับการประสานจากหน่วยงานก่อนเริ่มโครงการเพียง 1 วัน ทำให้ไม่ได้สั่งสินค้าไว้ล่วงหน้า อีกทั้งยังพบว่า ผู้ที่นำคูปองมาใช้ในช่วงหลังไม่ได้เป็นผู้ประสบอุทกภัยจริง และมีจำนวนมากเกินกว่าที่ได้รับการประสานจากทางจังหวัดไว้
นอกจากนี้ ร้านที่เข้าร่วมโครงการมองว่าขั้นตอนที่กระทรวงพลังงานวางเอาไว้ยุ่งยากมาก โดยเฉพาะการกำหนดส่วนลดแก่สินค้าแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน ซึ่งพบว่ากระทรวงพลังงานได้กำหนดให้ตู้เย็นมากกว่า 5.9 คิว เครื่องปรับอากาศ และโทรทัศน์ทีมี Standby Power 1 วัตต์เท่านั้นที่ให้ส่วนลดเต็มจำนวน 2 พันบาท นอกนั้นจะให้ส่วนลดแบบลดหลั่นกันไป อาทิ ตู้เย็นน้อยกว่า 5.9 คิว ใช้เป็นส่วนลดสูงสุดได้เพียง 1,200 บาท
เตาแก๊สหัวเดียวลดสูงสุด 500 บาท ส่วนประเภทสองหัวลดสูงสุด 800 บาท, กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า ไม่เกิน 3 ลิตรลดสูงสุด 200 บาท, หม้อหุงข้าวไฟฟ้าลดสูงสุด 200 บาท, โคมไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงลดสูงสุด 200 บาท, พัดลมแบบตั้งโต๊ะลดสูงสุด 200 บาท ส่วนแบบตั้งพื้น และติดผนังลดสูงสุด 300 บาท, หลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์ หลอดฟลูออเรสเซนต์ T5 และบัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ T5 คละผลิตภัณฑ์ ยอดซื้อทุกๆ 300 บาทลดสูงสุด 100 บาท และฉนวนใยแก้ว ลดสูงสุด 100 บาทต่อพื้นที่ 4 ตารางเมตร
ด้วยเงื่อนไขที่ยุ่งยาก ประกอบกับต่างเข้าใจว่าเป็นการนำคูปองมาใช้แทนเงินสด และร้านค้านำไปขึ้นเงินกับกระทรวงพลังงานที่หลัง ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ส่วนลดเพื่อจูงใจเลือกใช้อุปกรณ์ที่ติดฉลากเบอร์ 5 กลายเป็นว่าต่างฝ่ายต่างดำเนินการแบบเข้าใจไปเอง โดยขาดการประสานงานที่ถูกต้องจากภาครัฐ กระทั่งร้านค้าประสบปัญหา ไม่รู้ว่าคูปองที่ได้รับจะนำไปขึ้นเงินที่ไหน และดำเนินการอย่างไร จนต้องปิดร้าน และส่วนลดที่แตกต่างกันทำให้เชื่อว่าคูปองใช้ไม่ได้จริง สร้างความไม่เข้าใจ และไม่พอใจจากชาวบ้านในที่สุด
ปัญหาจากโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีกระทรวงพลังงาน ที่มีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นเจ้ากระทรวง หากไล่เรียงกันแล้วจะพบว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ รัฐบาลต้องการหาเสียงหลังน้ำลด มากกว่าที่จะทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ชัดเจนเสียก่อน ว่าแท้ที่จริงคูปองที่นำมาแจกเป็นคูปองส่วนลด เพื่อนำซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟเบอร์ 5 ลด 20% ไม่ใช่ใช้คุปองแทนเงินสดซื้อสินค้า
ที่สำคัญก็คือไม่มีการซักซ้อมให้เข้าใจกันเสียก่อนว่า มีร้านค้าใดบ้างที่เข้าร่วมรายการ ซึ่งจากการสังเกตพบว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทเวิร์คพอยท์ ติดต่อร้านค้าเพื่อชักชวนให้เข้าร่วมโครงการเพียง 1 วันก่อนเปิดตัวเท่านั้น และคูปองใช้ได้ถึงถึงวันที่ 6 ม.ค.ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไป ประกอบกับช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ประชาชนต่างใช้เงินน้อยลง อีกทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการหลายชนิดมีราคาสูง และผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถซื้อเป็นเงินสดได้
สิ่งสำคัญที่สุดคือ รายละเอียดและเงื่อนไขการใช้คูปองกลับไม่มีความรัดกุม และไม่ระบุให้ชัดเจนว่าใช้เป็นส่วนลดหรือใช้แทนเงินสด ทำให้เกิดความสับสนในการใช้คูปองแก่ผู้ซื้อ และร้านค้าที่ต้องปฏิเสธคูปองในภายหลัง ไม่นับรวมกรณีที่เครื่องใช้ไฟฟ้ามีราคาไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการใช้ส่วนลด ซึ่งมีรายงานว่าบางจังหวัดสินค้าประเภทเดียวกันตามท้องตลาดมีราคาถูกกว่า แต่เมื่อนำคูปองไปใช้กับร้านค้าที่ร่วมโครงการ ราคากลับแตกต่างกันออกไปอีกด้วย ผลประโยชน์จึงตกกับร้านค้ามากกว่าประชาชนที่ได้สินค้าในราคาที่ไม่ต่างกับราคาปกติ
หากจะกล่าวว่าโครงการนี้ ที่พบว่าการดำเนินงานมีปัญหา และกลายเป็นการประท้วงปิดถนน จะเป็นความล้มเหลวของกระทรวงพลังงาน ภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่มีนายพิชัยเป็นเจ้ากระทรวงหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ด่วนสรุปเกินไป เพราะทางกระทรวงพลังงานเตรียมที่จะขยายเวลาโครงการดังกล่าวไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยจะมีการแจกคูปองอีกรอบในช่วงตรุษจีน ซึ่งจะปรับปรุงระเบียบต่างๆ ให้เหมาะสม และจะประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม วันนี้ประชาชนทั้งที่เป็นผู้ประสบภัยที่ยังไม่ได้รับคูปอง และได้รับคูปองต่างเสียความรู้สึกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้กระทรวงพลังงานจะมีโอกาสแก้ไขให้กลับมาดีดังเดิมได้ก็ตาม แต่ความยุ่งยากภายใต้เงื่อนไขที่กระทรวงพลังงานกำหนดขึ้นมาเอง ซึ่งเคยเกิดความเข้าใจผิดในการใช้คูปองทั้งผู้ประสบภัยและร้านค้า อีกทั้งการฉวยโอกาสของร้านค้าที่โก่งราคาสินค้าเพื่อให้ได้กำไร อาจทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นที่จะใช้ส่วนลดจากคูปองเหล่านี้อีก
ไม่นับรวมการนำเงินกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาใช้ในการทำนโยบายประชานิยม หวังผลเรียกคะแนนให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ หลังการแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ.ล้มเหลว ผลที่สุดจะกลายเป็นเผือกร้อนที่รัฐบาลจะต้องประสบกับกระแสแอนตี้คูปอง รวมทั้งจะกลายเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.