“จุลภัทร-ไพศาล-ธยาน์ฤทธิ์” ครบวาระ ก.ย.นี้ เมืองประมง ดงเกษียณของแท้!
พล.ต.ต.ธยาน์ฤทธิ์ เอกเผ่าพันธุ์ และนายจุลภัทร แสงจันทร์ ระหว่างประชุมการแก้ไขปัญหาปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อ 16 มกราคม 2556 (ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร)
ตอกย้ำความเป็นจังหวัดเพื่อการพักร้อนรอวันเกษียณอายุราชการ ในเดือนกันยายนนี้ หากไม่มีใครเป็นอะไรก่อนวัยอันควร จะมีข้าราชการระดับสูงในจังหวัดสมุทรสาครเกษียณอายุราชการพร้อมกันทั้งหมด 7 คน
เริ่มจาก นายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร (เกิด 15 มีนาคม 2496) หลังจากที่มานั่งเก้าอี้พ่อเมืองเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา หากดำรงตำแหน่งครบวาระ ก็ถือว่านายจุลภัทรเป็นพ่อเมืองสมุทรสาครครบ 3 ปีพอดิบพอดี
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หากย้อนกลับไปในอดีต ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีแต่คนที่มีอายุเข้าขั้น “วัยทอง” น้อยครั้งนักที่จะเห็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงเข้ามาบริหารจังหวัดเล็กๆ ชายขอบกรุงเทพฯ แต่จีดีพีสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ
ไล่ตั้งแต่ นายวิมุติ บัวจันทร์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปี 2545 เกษียณอายุราชการเมื่อปี 2547 ตามมาด้วย นายสมบูรณ์ งามลักษณ์ ที่ดำรงตำแหน่งเพียงปีเดียว จำต้องย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ก่อนจะเกษียณราชการในปี 2550
นายธีระบูลย์ โพบุคดี ดำรงตำแหน่งในปี 2548 อยู่มาได้สองปีก็เกษียณอายุราชการในปี 2550 ต่อด้วยนายวีรยุทธ เอี่ยมอำภา ดำรงตำแหน่งในปี 2550 ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยในปี 2552 กระทั่งนายวัลลภ พริ้งพงษ์ ดำรงตำแหน่งต่ออีก 1 ปี ก่อนย้ายไปนั่งเก้าอี้รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
ส่งไม้ต่อให้นายจุลภัทร ซึ่งย้ายข้ามห้วยมาจากรองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกล แต่ต้องมาดูแลปัญหาสารพัดในจังหวัด ส่วนนายวัลลภซึ่งเกษียณอายุราชการในปีหน้า (2557) เมื่อเร็วๆ นี้ได้เก้าอี้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
นายไพศาล สำราญทรัพย์ (ภาพจากแฟ้ม)
ไม่ใช่แค่พ่อเมืองสมุทรสาครที่ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา นายไพศาล สำราญทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร (เกิด 29 ตุลาคม 2495) ก็จะเกษียณอายุราชการในปีนี้เช่นกัน หลังมีชีวิตแบบก้าวกระโดด นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ปี 2552 ต่อด้วยปลัดจังหวัดสมุทรสาคร
แม้จะย้ายไปเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์สักพักหนึ่ง แต่สุดท้ายก็กลับมาตายรังเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร น่าสนใจว่า หนุ่มใหญ่สิงห์แดง (ปี 2518) คนบางเลน นครปฐมผู้นี้ จะสนใจลงมาเล่นการเมืองในสมุทรสาครหรือไม่ เนื่องจากผูกพันจังหวัดนี้ตั้งแต่เป็นนายอำเภอกระทุ่มแบน ปี 2549
แต่ก่อนอื่น ไพศาลอาจต้องรอ “บ้านใหญ่” เปิดสัญญาณไฟเขียวเสียก่อน…
แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยในบ้านเราระบุว่า ยังมี นายอมรฤทธิ์ เอมะปาน นายอำเภอบ้านแพ้ว ที่จะรอวันเกษียณอายุราชการในปีนี้เช่นกัน ส่วน นายจิตตวีร์ ภูมิวุฒิสาร นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครเสนอให้ออกจากพื้นที่ ก่อนมีคำสั่งไปช่วยราชการที่กระทรวงมหาดไทยเป็นเวลา 2 เดือนก่อนเกษียณ
ขณะที่ข้าราชการประจำในจังหวัดที่รอวันเกษีนณ ประกอบด้วย นางอนุสรณ์ อินทร์กำแพง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสาคร, นายสวัสดิ์ กิจจามัย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร และนายสมชาย ปานทอง ปศุสัตว์จังหวัดสมุทรสาคร
ส่วนข้าราชการตำรวจที่จะเกษียณอายุราชการในปีนี้ ต้องจับตามองเป็นพิเศษกับ พล.ต.ต.ธยาน์ฤทธิ์ เอกเผ่าพันธุ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร (เกิด 7 มกราคม 2495) จะเกษียณอายุราชการในเร็ววันนี้ หลังถูกโยกย้ายมาจากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อ 28 ธันวาคม 2554
พล.ต.ต.ธยาน์ฤทธิ์ เดิมชื่อ ชัยฤทธิ์ ชื่อเล่น “โด๊ะ” เป็นชาววัดแค อ.นครชัยศรี นครปฐม ศิษย์เก่าสวนกุหลาบ รุ่น 84 นายร้อยตำรวจรุ่น 28 สาย พล.ต.อ.ภาณุพงษ์ สิงหรา ณ อยุธยา ในระหว่างเป็นผู้บังคับการที่นี่ เขายังรับไม้ต่อประธานชมรมสวนกุหลาบสมุทรสาคร ต่อจาก นายศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล ศิษย์เก่าสวนกุหลาบรุ่น 93
และแน่นอนว่าความเป็น “สวนกุหลาบคอนเน็กชั่น” ย่อม “เชียร์เอาชัยไม่ไหวหวาด” กันดี กับรุ่นน้องนามว่า “ปลัดแต” นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะศิษย์เก่าสวนกุหลาบรุ่น 103
เมื่อข้าราชการระดับสูงในจังหวัดสมุทรสาครหายไปยกแผงแบบนี้ น่าคิดว่าหากเกิดขึ้นเช่นนี้ต่อไป การบริหารงานจังหวัด โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจะมีความต่อเนื่องหรือไม่ เพราะคนที่เข้ามาแทนที่หากไม่เก่งจริงคงเสียเวลาปรับตัวให้รับมือกับปัญหาสารพัดของบ้านนี้เมืองนี้
กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้พอดี…