“กะลาปาล์ม” พลังงานใหม่ หากจัดการไม่ดีอาจซ้ำรอย “ถ่านหิน”
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจะออกคำสั่งให้ระงับการประกอบกิจการถ่านหินทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการลำเลียง การเก็บกอง การขนถ่าย การขนส่งหรือการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งยังมีคำสั่งศาลปกครองตามมา แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับพลังงานทดแทนที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในจังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะการนำเข้าเชื้อเพลิงที่อาจส่งปัญหาต่อมลภาวะทั้งทางน้ำและทางอากาศ
นายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร และแกนนำชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตจังหวัดสมุทรสาคร กำจร มงคลตรีลักษณ์ ได้เรียกประชุมแกนนำที่เกิดขึ้น หลังเกิดปัญหาพบฝุ่นคล้ายถ่านหิน ฟุ้งกระจายกระทบชุมชนและโรงเรียนแห่งหนึ่ง แม้ในอดีตจะมีการออกคำสั่งระงับท่าเรือเพื่อขนถ่ายถ่านหินแล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีท่าเรือรุกล้ำลำน้ำท่าจีน บางแห่งยังใช้ขนถ่ายสิ่งของกันอยู่
ขณะที่ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสมุทรสาคร สุรชัย บุรพานนทชัย เปิดเผยว่า ได้ลงตรวจท่าเรือริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ต.ท่าจีน และ ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยยืนยันว่าท่าเรือยังใช้การอยู่ แต่อย่างไรก็ตามไม่มีการขนถ่ายถ่านหิน แต่เป็นกะลาปาล์ม ซึ่งหากกะลาแห้งจะมีฝุ่นและเมื่อเปียกหรือถูกฝนจะมีกลิ่นเหม็นบ้างตามที่รับเรื่องร้องเรียน โดยล่าสุดได้สั่งผู้ประกอบการเร่งดูแลปัญหาดังกล่าวต่อไป
ในปัจจุบันไม่มีผู้ประกอบการรายใดประกอบกิจการนำเข้าและจัดจำหน่ายถ่านหินในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร หลังเกิดกรณีต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ ยังคงมีรถบรรทุกขนส่งถ่านหินจากคลังสินค้าในพื้นที่ จ.เพชรบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยามาส่งให้ลูกค้าตามสถนประกอบการอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเริ่มมีผู้ประกอบการบางรายได้นำเข้าวัสดุเชื้อเพลิงในรูปแบบที่เรียกว่า กะลาปาล์ม จากต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร
กะลาปาล์ม (Palm Kernel Shell) เป็นกากของแข็งชนิดหนึ่งที่มาจากผลปาล์ม อยู่ระหว่างเส้นใยปาล์มที่ติดเปลือกด้านนอกสุด กับเนื้อปาล์มที่อยู่ด้านในสุด มีลักษณะสีน้ำตาล เนื้อแข็ง เกิดขึ้นหลังการสกัดเอาน้ำของผลปาล์มที่เรียกว่าน้ำมันปาล์มออกหมดแล้ว โดยเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) ที่ให้ค่าความร้อนค่อนข้างสูง ในปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ในประเทศไทยมีผลผลิตไม่เพียงพอ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย และอินโดนิเซีย
ในประเทศไทยมีผู้นำเข้ากะลาปาล์มรายใหญ่ คือ บริษัท เอเชียไบโอแมส จำกัด เจ้าของเดียวกับ บมจ.เอเชีย กรีน เอนเนอจี โดยได้ทำสัญญารับซื้อกะลาปาล์มจากโรงงานหีบสกัดน้ำมันปาล์มจากทาง จ.กระบี่ และ จ.ชุมพร รวมทั้งยังนำเข้ากะลาปาล์มมาจากประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียในบางส่วน ซึ่งมีจุดรับกระจายสินค้า 2 แห่ง ได้แก่ จ.ลำปาง และ จ.สุราษฎร์ธานี และมีโรงคัดแยกผลิตภัณฑ์ที่ซอยผู้ใหญ่แดง หมู่ 1 ต.บางน้ำจืด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร
ในจังหวัดสมุทรสาครแม้จะยังไม่มีการร้องเรียนถึงเรื่องนี้อย่างเด่นชัด แต่ก็เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ใน จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีชาวบ้านร้องเรียนการขนถ่ายกองกากกะลาปาล์มของผู้ประกอบการรายหนึ่ง ที่สะพานปลาจังหวัดสมุทรปราการ และเข้าใจว่าเป็นกองถ่านหินลิกไนต์ เกรงว่าเกิดอันตรายต่อสุขภาพและอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เนื่องจากมีการฟุ้งกระจายของฝุ่น และส่งกลิ่นเหม็น สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ชาวบ้าน
หลังจากปลัดอาวุโสอำเภอเมืองสมุทรปราการ พร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ต.ท้ายบ้าน อ.เมืองฯ จ.สมุทรปราการ เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า กองกากกะลาปาล์มดังกล่าว เป็นกากกะลาเม็ดขนาดใหญ่ไม่สามารถฟุ้งกระจายในอากาศได้ ส่วนกลิ่นของกากกะลาปาล์ม ซึ่งเป็นกลิ่นคล้ายน้ำมันมะพร้าวซึ่งมีเพียงเล็กน้อยไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านแต่อย่างใด
แม้กากกะลาปาล์มจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่าถ่านหิน รวมทั้งเป็นผลผลิตที่มาจากพืชธรรมชาติ แต่การจัดการเรื่องกลิ่นและฝุ่นละอองในอากาศยังเป็นสิ่งที่ตั้งแต่ผู้ประกอบการ รวมทั้งทางจังหวัดจะต้องออกมาควบคุมดูแล เช่นเดียวกับโรงงานปลาป่นที่ส่งกลิ่นเหม็นและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ชาวบ้านในจังหวัดสมุทรสาคร ไม่เช่นนั้นแล้วหากปล่อยปะละเลย อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเกิดความขัดแย้งกับชาวบ้านซ้ำรอยกับถ่านหินก็เป็นได้
kiattisak กล่าวว่า:
ก.ย. 16, 14 at 3:28 amอยากทราบว่า อายุการจัดเก็บอยู่ได้นานเท่าไร ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง
แล้วถ้าเอามาทดสอบเครื่องจักร ควรใช้ก่อนกี่วัน ที่จะไม่ให้ค่าพลังงานของปาล์มสูญหาย