เรากลัวอะไรหลังวลีฮิต “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่”
วลียอดฮิต “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากวีดีโอคลิปที่เด็กชายคนหนึ่งได้บันทึกไว้ แม้จะเป็นเรื่องตลกขบขันในหมู่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ แต่สำหรับ “กิตตินันท์ นาคทอง” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์สาครออนไลน์ แสดงความเป็นห่วงถึงวลียอดฮิตนี้ กับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตไว้อย่างน่าสนใจ
โดยได้ฝากทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้แก่สาครออนไลน์ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้…
000
เมื่อช่วงก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา วิดีโอคลิปในเว็บไซต์ยูทิวบ์ ชื่อ “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” ที่มีการแชร์กันอย่างแพร่หลายทั้งทางเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ กำลังกลายเป็นวลีฮิตในสังคมออนไลน์ และมีการนำไปพูดกันมากในขณะนี้
เนื้อหาในวิดีโอคลิปดังกล่าว เป็นภาพเด็กชายคนหนึ่งในวัยมัธยมต้น พูดด้วยน้ำเสียงก้าวร้าว กล่าวถึงเพื่อนร่วมชั้นเรียนอีกคนหนึ่ง ที่มีเรื่องพิพาทกัน ด้วยความไม่พอใจจึงบันทึกภาพเป็นวิดีคลิปขู่ว่าจะนำเรื่องนี้ไปฟ้อง “ครูอังคณา” ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก
อย่างไรก็ตาม ยังมีวีดีโอคลิปที่ทำซ้ำ และมีเนื้อหาในลักษณะเดียวกันอีกอย่างน้อย 2 คลิป ประโยคหนึ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่น่าเป็นห่วง คือ “กูทนไม่ไหวกูขออัดคลิปแม่งเลย คือ พิมพ์เป็นตัวอักษร หรือตัดต่อคลิปแล้วมันไม่สะใจ มันไม่ได้น้ำเสียงจริงๆ จังๆ”
ภายหลัง นางอังคณา แสบงบาล ครู คศ.1 โรงเรียนกระทุ่มแบน วิเศษสมุทคุณ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ก็ออกมาเปิดเผยถึงต้นตอของวีดีโอคลิปดังกล่าว มาจากนักเรียนในห้องที่ทะเลาะกัน ซึ่งพอตนทราบเรื่องก็ได้เรียกสมาชิกในห้องมาคุยกัน ซึ่งได้เคลียร์กันไปหมดแล้ว และปัญหาก็จบลงไปแล้ว
ในความเป็นจริง สาครออนไลน์พยายามมองว่าเรื่องนี้เป็นเพียงกระแสไฟไหม้ฟาง คือเมื่อเป็นที่พูดถึงในโลกสังคมออนไลน์แล้วก็เงียบหายไป แต่เมื่อสื่อกระแสหลักทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ได้นำมาขยายผล จึงเห็นว่าเรื่องนี้คงปล่อยผ่านเพียงแค่ให้ครูอังคณาออกมาพูดเพียงอย่างเดียวไม่ได้
แต่สิ่งที่อยากจะตั้งคำถามให้สังคมได้ขบคิด คือ แม้เหตุการณ์นี้จะโชคดีตรงที่กลายเป็นเรื่องตลกขบขัน แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า เมื่อเกิดครั้งที่สอง ครั้งที่สาม หรือครั้งไหนๆ ก็ตาม จะจบลงเพียงแค่เรื่องตลกขบขันเหมือนเช่นครั้งนี้ หากแต่กลายเป็นเรื่องที่ทั้งครูและผู้ปกครองต้องขำไม่ออกแทน
แน่นอนว่าปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น หลังจากวีดีโอคลิปนี้ออกสู่สายตาผู้คนในโลกสังคมออนไลน์ คือความตลกขบขันเมื่อได้ยินได้ฟัง แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในความน่าตลกขบขัน คือความน่าเป็นห่วงถึงค่านิยมในการ “ประจาน” ซึ่งกันและกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้นเสียตั้งแต่ยังเด็ก
เหมือนผู้ใหญ่บางคน ที่เมื่อไม่พอใจอะไร พอหนีไปตั้งหลักได้แล้ว ก็ได้ใช้ช่องทางสื่อสารเพื่อตอบสนองในสิ่งที่ตัวเองต้องการจะพูดออกไป ให้ผู้คนได้เห็นด้วยหรือคล้อยตามในแบบที่เรียกว่าเอาแต่ใจตัวเอง ปราศจากตัวกลางที่จะออกมาชี้ผิดชี้ถูกถึงเรื่องนี้
บ่งชี้ให้เห็นว่าเด็กยุคนี้ก้าวร้าวมากขึ้น และใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดเพื่อสนองต่อความต้องการต่อตนเอง
ในสังคมวัยรุ่น กรณีที่ร้ายแรงกว่าการอัดวีดีโอประจานเพื่อนผ่านอินเตอร์เน็ตก็เคยเห็นมาแล้ว ได้แก่วีดีโอคลิปที่บันทึกขึ้นขณะที่นักเรียนหญิงรุมตบกัน หรือไม่ก็มีกรณีวีดีโอคลิปที่แสดงให้เห็นถึงการมีเพศสัมพันธ์ในเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งหลุดออกมาจากโทรศัพท์มือถือ หากถูกเผยแพร่และส่งต่อในทางสาธารณะ สุดท้ายก็ต้องรู้ไปถึงสื่อมวลชน
ความคึกคะนองของเด็กโดยปราศจากวิจารณญาณและจิตสำนึก แยกแยะผิดถูกไม่ได้ เมื่อเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมา ผลเสียก็ย้อนกลับมาที่ตัวเด็กเอง เมื่อถูกประจานไปยังสังคม เป็นที่รู้เห็นกันไปทั่ว หากไม่ใช่เด็กที่ทำตัวไม่รู้สึกรู้สา เมื่อคิดได้ก็จะเกิดอาการซึมเศร้า รู้สึกสลดหดหู่กับสิ่งที่ได้ทำไปเพียงอารมณ์ชั่ววูบ
แม้เรื่องครูอังคณาจะจบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง เพราะเรื่องจบลงก่อนที่วีดีโอคลิปจะถูกเผยแพร่ ซึ่งก็ถือว่าครูได้แก้ปัญหากับเด็กได้ทันการณ์ เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า เราจะไม่มีกรณีในลักษณะการอัดวีดีโอคลิปประจาน เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องและความต้องการของตัวเองเกิดขึ้นอีก
อีกประการหนึ่ง เวลานี้กระทรวงศึกษาธิการ ในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังผลักดันนโยบายประชานิยม เฉกเช่น “1 นักเรียน 1 แท็บเล็ตพีซี” เพื่อนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนแก่เด็ก แทนการใช้หนังสือและตำราเรียนเล่มหนาๆ เหมือนในอดีต
แม้จะไม่รู้ว่ารูปแบบการใช้งานเป็นอย่างไร นักเรียนจะได้แบกแท็บเล็ตพีซีกลับบ้านหรือไม่ แต่การให้นักเรียนอายุและระดับชั้นยังน้อยก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี โดยที่รัฐหยิบยื่นอุปกรณ์มาให้เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ชี้แนะหรือปลูกฝังค่านิยมให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีคุณธรรม อาจทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ผิดได้
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ “บ้านหลังที่สอง” เฉกเช่นกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา รวมทั้งตัวครูผู้สอนเอง จะเริ่มปรับตัวและมีมาตรการรองรับที่เกิดขึ้น มากกว่าที่จะปิดกั้นโลกภายนอกแก่เด็ก ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ผิดที่ผิดทาง
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า เทคโนโลยีเลวร้ายดังปีศาจอย่างไรถึงต้องปิดกั้น หากแต่จะให้เยาวชนเรียนรู้ที่จะอยู่กับเทคโนโลยี โดยไม่ให้เทคโนโลยีครอบงำหรือกลืนกินความเป็นมนุษย์ได้อย่างไรต่างหาก เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องต้องขบคิดถึงเรื่องนี้.